xs
xsm
sm
md
lg

สถานีเรดาร์ดอยอินทนนท์นำร่องใช้แสงแดดผลิตไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ที่ผ่านมา ต้องส่งน้ำมันขึ้นไปเก็บสำรองไว้บนยอดเขาสูงสุดของประเทศกว่า 2,500 เมตร ให้เดินเครื่องรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทันทีที่ระบบสายส่งไฟฟ้าขัดข้อง เพื่อมิให้ภารกิจระวังภัยทางอากาศต้องสะดุดชะงักแม่แต่นาทีเดียว โดยยังมีอีกหลายหน่วยงานทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และนโยบายการส่งเสริมหน่วยงานความมั่นคงของกระทรวงพลังงาน

พล.อ.อ.วรฉัตร ธารีฉัตร ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ เปิดเผยเรื่องพลังงานทดแทนที่กองทัพอากาศได้เริ่มกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ตั้งแต่ปี 2551 ด้วยเหตุที่ตระหนักชัดถึงปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ โดยได้กำหนดการดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอน ในระยะเวลา 15 ปี มีทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว

เมื่อเริ่มดำเนินการในปี 2554 นั้นเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับ ระยะถัดมาเป็นการพัฒนาให้ยั่งยืน ส่วนในระยะยาว คือ การเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนที่สามารถใช้ได้ทั้งในยามปกติ และในยามขาดแคลนโดยเน้นถึงความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานในสังกัดต้องใช้ และผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ทุกหน่วย นอกจากนี้ ยังสอดรับต่อนโยบายของรัฐบาลที่มีการออกกฎหมายรองรับในเรื่องพลังงานทดแทนพอดี

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว “ผู้สื่อข่าวพิเศษ” ได้รับการเชิญไปเยี่ยมชมความคืบหน้าของโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งกองทัพอากาศได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณปี 2557 จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในศูนย์ป้องกันทางอากาศ (สถานีเรดาร์) ซึ่งตั้งอยู่ภายในสถานีรายงานดอยอินทนนท์จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดสูงที่สุดของประเทศไทยด้วยระดับ 2,568 เมตรจากระดับน้ำทะเล และต้องปฏิบัติภารกิจตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันกองทัพอากาศได้เร่งรัดจัดการให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นที่ 60 ตารางเมตรบนหลังคาอาคารแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย พร้อมเก็บสำรองพลังงานไว้ในแบตเตอรี่เพื่อทดสอบความพร้อมในการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบด้วยขนาด800 kW ประมาณเดือนสิงหาคมนี้

เป็นที่คาดหมายว่า สถานีเรดาร์ดอยอินทนนท์จะเปิดการผลิต และใช้แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าสำหรับเป็นพลังงานทดแทนได้ทันทีที่ผลการทดสอบแล้วเสร็จเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานยิ่งขึ้น เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมา สถานีเรดาร์แห่งนี้ต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากสายส่งจากตัวเมืองเชียงใหม่มาสู่เส้นทางขึ้นดอยที่สูงชันในสภาพป่าที่สมบูรณ์ บางครั้งจึงเกิดปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องเพราะต้นไม้ถูกฟ้าผ่า มีกิ่งก้านหักพาดสายไฟแรงสูงทำให้ต้องใช้ไฟสำรองจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงระหว่างการซ่อมสายไฟ

ยิ่งกว่านั้นโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ยังจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากให้กองทัพอากาศในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปเก็บสำรองไว้ เช่นเดียวกับสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคม และสถานีเรดาร์บนภูกระดึง ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าจึงต้องอาศัยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพียงสถานเดียว ซึ่งนอกจากจะมีภาระค่าใช้จ่ายสูงมากแล้วยังยุ่งยาก เพราะไม่มีเส้นทางอื่นใดในการขนส่งนอกจากทางอากาศเท่านั้นเพื่อให้ภารกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันหยุด

พล.อ.อ. วรฉัตร ธารีฉัตร ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า “กองทัพอากาศได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อใช้งานในสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมในส่วนที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงรวม 4 แห่ง และระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้งานระบบเรดาร์กองทัพอากาศรวม 15 หน่วย ซึ่งถือว่ามีส่วนช่วยเสริมเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่หน่วยงานความมั่นคงของชาติเป็นอย่างมาก”
กำลังโหลดความคิดเห็น