xs
xsm
sm
md
lg

จีนเล็งพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์พิสัยไกล สามารถโจมตีข้าศึกถึง “เกาะกวม” ของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) เครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล Tu-22M3
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - สื่อของรัฐรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหม ชี้จีนจำเป็นต้องพัฒนา “เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์พิสัยไกล” ซึ่งสามารถโจมตีศัตรูที่อยู่นอกชายฝั่งแดนมังกร ในระยะที่ไกลออกไปถึงในมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อป้องกันและป้องปรามไม่ให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงในกรณีที่เกิดการสู้รบขัดแย้งหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน

หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ ของทางการจีน เมื่อวันอังคาร (7 ก.ค.) ที่ผ่านมา ลงบทความยาวเหยียด 1 หน้าเต็ม ซึ่งระบุว่า ในการประชุมของฝ่ายทหารของจีนเมื่อเร็วๆ นี้ มีการพูดถึงกองทัพอากาศ โดยถือเป็น “กองกำลังทางยุทธศาสตร์” ของประเทศ ทั้งนี้บทความชิ้นนี้อ้างอิงว่าเป็นข้อมูลข่าวสารซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานของ “คันวา ดีเฟนซ์ รีวิว” วารสารด้านการทหารและเทคโนโลยีอาวุธซึ่งออกในแคนาดา ฉบับล่าสุด

ก่อนหน้านี้ “กองกำลังทางยุทธศาสตร์” ของแดนมังกร ถูกสงวนไว้ใช้หมายถึง “เหล่าปืนใหญ่ที่สอง” ของกองทัพ ซึ่งไชน่าเดลี่เองก็อธิบายว่า เป็น “กองกำลังขีปนาวุธยุทธศาสตร์ในทางพฤตินัย” ของจีน

บทความของไชน่าเดลี่อ้างรายงานของคันวา ดีเฟนซ์ รีวิว ต่อไปว่า ที่ประชุมของฝ่ายทหารดังกล่าวเห็นพ้องกันว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ระยะไกลจะช่วยให้กองทัพอากาศของจีน สามารถโจมตีข้าศึกถึงในมหาสมุทรแปซิฟิก ไกลจนถึงแนวสายโซ่ดินแดนชั้นที่สอง” (Second Island Chain)

ทั้งนี้พวกนักยุทธศาสตร์จีนมีความคิดกันว่า เมื่อมองออกไปจากจีนแล้ว แนวสายโซ่ดินแดนชั้นแรก หมายถึงเส้นโค้งที่ลากเชื่อมโยงจากญี่ปุ่นถึงไต้หวัน ซึ่งรวมฐานทัพหลายแห่งของอเมริกาบนเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นด้วย

ขณะที่แนวสายโซ่ดินแดนชั้นที่สอง ขยับขยายออกไปทางด้านตะวันออกในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยครอบคลุมหมู่เกาะมาเรียนา หมู่เกาะแคโรไลน์ และเกาะกวม ซึ่งเป็นดินแดนของอเมริกาและเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซนของแดนอินทรี

สำหรับแนวสายโซ่ดินแดนชั้นที่สาม ซึ่งครอบคลุมฮาวายนั้น ก็มีการเอ่ยถึงกันอยู่เป็นครั้งคราว

บทความในไชน่าเดลี่อ้างรายงานดังกล่าวต่อไปว่า การมีสมรรถนะในการโจมตีไปถึงแนวสายโซ่ดินแดนชั้นที่สอง จะสามารถยับยั้งศัตรูต่างแดนไม่ให้เข้ามาแทรกแซง เมื่อเกิด "สถานการณ์ฉุกเฉินหรือกรณีการสู้รบขัดแย้งขึ้นมา”

ฝ่ายทหารของจีนนั้นให้คำนิยามว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ระยะไกลคือเครื่องบินที่สามารถบรรทุกยุทโธปกรณ์ที่ปล่อยจากอากาศสู่พื้นดิน เป็นน้ำหนักมากกว่า 10 ตัน และมีพิสัยการบินอย่างน้อย 8,000 กิโลเมตรโดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิง

บทความของไชน่าเดลี่ยังอ้าง “แอร์โรสเปซ โนว์เลดจ์” ที่เป็นนิตยสารด้านเทคโนโลยีการทหารของจีน ว่า ในบทความชุดหนึ่งซึ่งเผยแพร่ในนิตยสารนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ก็ได้ระบุว่า จีนจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลที่มีเทคโนโลยี “สเตลธ์” นั่นคือสามารถหลบหลีกไม่ให้เรดาร์ตรวจจับได้

“เครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยปานกลาง โดยเนื้อหาสาระแล้วยังไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนของกองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ในแง่ของการโจมตีทางยุทธศาสตร์และการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ได้” บทความของไชน่าเดลี่บอก พร้อมกับอ้างอิงหนึ่งในรายงานชุดดังกล่าวของแอร์โรสเปซ โนว์เลดจ์ ที่กล่าวว่า “ด้วยเหตุนี้กองทัพอากาศจึงจำเป็นต้องมีเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ข้ามทวีป ซึ่งมีสมรรถนะในการแหวกผ่านแนวป้องกันทางอากาศของข้าศึก”

อย่างไรก็ดี ไชน่าเดลี่ได้อ้างอิงความคิดเห็นของ หวัง เอี๋ยนอัน รองบรรณาธิการบริหารของแอโรสเปซ โนว์เลดจ์ ที่บอกว่า เครื่องบินดังกล่าวนี้จะต้องมีโครงสร้างและรูปทรงทางอากาศพลศาสตร์อันล้ำสมัย รวมทั้งติดตั้งเครื่องยนต์กังหันไอพ่นประสิทธิภาพสูง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่อุตสาหกรรมการบินของจีนยังไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะสั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น