xs
xsm
sm
md
lg

ประมงตราดหารือจังหวัดจัดระเบียบเรือหลัง คสช.ใช้ ม.44 ยกเลิกอวนรุน และเรือประมงผิด กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตราด - จังหวัดตราด ร่วมประมงตราดประชุมจัดระเบียบเรือประมง หลัง คสช.ใช้ ม.44 ยกเลิกอวนรุน และเรือประมงผิด กม. ด้านเจ้าของเรือประมงอวนรุนเรียกร้องขอยกเลิก ที่สุดทำไม่ได้เดินออกพร้อมน้ำตา

วันนี้ (9 ส.ค.) ที่ศาลาประชาคม อ.เมือง จ.ตราด จ.ตราด โดยสำนักงานประมงจังหวัดตราด นายไชยยันต์ การสมเนตร ประมงจังหวัดตราด พร้อมทหารนาวิกโ ยธิน จากหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจังหวัดตราด ได้เปิดประชุมร่วมกับชาวประมงจังหวัดตราด ที่ได้ส่งตัวแทนประมงแต่ละตำบลๆ ละ 5 คน เพื่อดำเนินการจัดระเบียบการออกทำประมงในพื้นที่ทะเลตราดใหม่ หลัง คสช.มีประกาศควบคุมการทำประมงของเรือประมงที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 และ คสช.ที่ใช้มาตรา 44 ประกาศยกเลิกเรือประมงอวนรุน และเรือประมงประเภทที่ใช้เครื่องประมงที่ผิดกฎหมาย และทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งมีชาวประมงร่วมประชุมประมาณ 3-400 คน

โดย นายไชยันต์ ได้ชี้แจงถึงมาตรการที่ทางรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาการทำประมงอย่างแท้จริงหลังสหภาพยุโรปได้มีมาตรการตอบโต้ธุรกิจประมงของไทย ซึ่งการแก้ปัญหาดำเนินการมานานหลายเดือน และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา และมีเรือประมงจำนวนมากที่เข้ามาดำเนินการอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรือประมงอวนรุน และเรือประมงอื่นๆ ที่ใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายนั้น คสช.ได้ใช้ ม.44 ประกาศยกเลิก และห้ามนำออกมาทำประมงอีก หากพบจะทำการจับกุมและยึดเรือ ส่วนผู้ที่ประมงอวนรุนจะต้องเลิกอาชีพห รือปรับเปลี่ยนทำให้ถูกต้อง นอกจากนี้ รัฐบาลจะได้หาวิธีในการเยียวยาให้ภายหลัง

ระหว่างนั้นชาวประมงอวนรุนหลายคนไม่พอใจ และเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเนื่องจากไม่สามารถทำประมงได้ แต่นายไชยันต์ การสมเนตร และทหารยืนยันว่า ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว ทำให้ตัวแทนชาวประมงอวนรุนเดินออกจากที่ประชุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม การประชุมยังดำเนินต่อไป และที่ประชุมได้หาข้อสรุปในเรื่องการจัดระเบียบการทำประมงให้แก่เรือประมงประเภทต่างๆ ได้โดยไม่มีปัญหาในการคัดค้าน

นายไชยยันต์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของ คสช.ที่ให้แต่ละจังหวัดทำการจัดระเบียบการทำประมงขึ้น เพื่อให้ชาวประมงที่ปฏิบัติถูกต้องได้ทำประมงต่อไป ซึ่งมติที่ออกมาชาวประมงยอมรับ กล่าวคือ การทำประมงชายฝั่งต่อไปนี้ในระยะ 3 ไมล์ทะเล หรือ 5,400 เมตร เรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่จะไม่สามารถเข้ามาทำประมงได้ ยกเว้นตามเกาะต่างๆ ให้ยึดระยะ 3,000 เมตร ขณะเดียวกัน เรือประมงอวนลอยที่มีขนาดต่ำกว่า 5 ตันกรอส และขนาด 5-10 ตันกรอส จะต้องทำประมงในระยะห่างจากชายฝั่งเท่าไร ในระยะ 3 ไมล์ทะเล และเรือประมงอวนลอยแต่ละขนาดจะต้องมีลอบจำนวนเท่าไร และในแต่ละเครื่องมีจะมีเท่าไร เพื่อให้การแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องตามประกาศของ คสช.

“ส่วนเรือประมงอวนรุนที่ต้องเลิกอาชีพการทำประมงไปนั้น เป็นไปตามระเบียบของ คสช.ที่ได้ประกาศไว้ ส่วนเรื่องของการเยียวยานั้นทางรัฐบาลกำลังออกระเบียบเพื่อหาช่องทางช่วยเหลืออยู่ แต่ยังไม่มีแนวทางในการปฏบัติ ชาวประมงอวนรุนจะต้องรอความชัดเจนในเรื่องนี้”

ทางด้าน นางปราณี ก้องสนั่น อายุ 53 ปี ตัวแทนชาวประมงอวนรุนที่เดินออกจากที่ประชุม กล่าวต่อสื่อทั้งน้ำตาว่า การยกเลิก และห้ามใช้เรือประมงอวนรุนของ คสช.ทำให้ชาวประมงอวนรุนทำกินไม่ได้ ทั้งที่ทะเบียนเรือถูกต้อง ไต๋เรือถูกต้อง อย่างอื่นก็ถูกต้องเพียงแต่ไม่มีอาชญาบัตรเท่านั้น ทำไมรัฐบาลไม่ออกใบอนุญาติให้ ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมา ชาวประมงอวนรุนไม่สามารถออกทำประมงได้ ไม่มีรายได้ ต้องใช้เงินที่เก็บไว้มาประทังชีวิตเพื่อรอว่ารัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร แต่ที่สุด คสช.ก็ประกาศยกเลิกเรือประมงอวนรุนทั้งหมด โดยไม่รับรู้ถึงปัญหาของชาวประมงอวนรุนที่แท้จริง

“อยากถามนายกรัฐมนตรีว่า ตอนเข้ามามีอำนาจบอกว่าจะคืนความสุขให้แก่ประชาชน แต่วันนี้ไม่ได้คืนความสุขแต่กลับมีทุกข์เพิ่มขึ้น 2 เดือนที่ผ่านมาไม่มีรายได้ และครอบครัวลูกหลานเดือดร้อนกันไปหมด ตนทำอาชีพประมงมาตั้งแต่รุ่นพ่อ และมารุ่นตน จนวันนี้มาถึงรุ่นลูก จะให้ไปทำอาชีพใดอีก ตนทำไม่เป็น ตนและทุกคนเป็นคนไทย เป็นประชาชนไทยด้วยกัน วันนี้ เรือประมงอวนรุน 51 ลำ ไม่สามารถออกไปทำประมงได้เพราะหากออกไปก็ถูกจับ แล้วที่ทหารบอกว่าช่วยเหลือ วันนี้ยังไม่เห็นช่วยอะไรเลย” นางปราณี กล่าว

สำหรับผลการประชุมครั้งนี้ สำนักงานประมง จ.ตราด จะเสนอให้ทางผู้ว่าราชการ จ.ตราดทำหนังสือสรุปปัญหาต่างๆ มอบให้แก่รัฐบาลต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น