ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทัพเรือภาคที่ 3 จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ในพื้นที่ ศร.ชล.เขต 3 เดินหน้าปลดล็อกใบเหลืองของ EU เชื่อภายใน 6 เดือนแก้ปัญหา IUU Fishing ได้
วันนี้ (14 พ.ค.) ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ทัพเรือภาคที่ 3 ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ในพื้นที่ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 (ศร.ชล.เขต 3) ที่รับผิดชอบในการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเรือ-เข้าออก PIPO จำนวน 6 ศูนย์ฯ ในพื้นที่จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน (จังหวัดละ 1 ศูนย์) เพื่อรับทราบปัญหาข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมี พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล.เขต 3 เป็นประธานการประชุม และมีหัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ศรชล.เขต 3 เข้าร่วมประชุมดังกล่าว
พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทัพเรือ เป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากการได้รับใบเหลืองการทำประมงจากสหภาพยุโรป
การขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด จึงมอบหมายให้ ศรชล. ควบคุมและกำกับการปฏิบัติงานในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันนั้น ได้มอบหมายให้ ศรชล.เขต 3 เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการ โดยได้มีการจัดตั้งหมวดเรือเฉพาะกิจ โดยเป็นการสนธิกำลังจากหน่วยต่างๆ ใน ศรชล.เขต 3 เพื่อปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายประมง การจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก ศูนย์ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่เรือประมงแบบเบ็ดเสร็จ ประจำในแต่ละจังหวัดชายทะเล และศูนย์ควบคุมการจัดตั้งระบบ VMS ในแต่ละพื้นที่ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ในพื้นที่ต่างๆ ครบ ทั้ง 6 จังหวัด มีระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดยมีกำลังพลประกอบด้วยกำลังพลจากหน่วยงานต่างๆ และได้เริ่มปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ยกเว้นในพื้นที่ จ.ระนอง และภูเก็ต ที่ได้เป็นโครงการนำร่องมาตั้งแต่ 1 เม.ย.58
เพื่อให้การปฏิบัติงานในพื้นที่ของ ศรชล.เขต 3 ในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความสำเร็จ ตนจึงได้จัดให้มีการประชุมดังกล่าวขึ้นในวันนี้ เพื่อรับทราบปัญหา และข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถแก้ไขได้จะดำเนินการทันที สำหรับปัญหาที่เป็นระดับนโยบายจะนำเสนอศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อแก้ไขต่อไป
พล.ร.ท.สายันต์ กล่าวอีกว่า จากการประชุมได้มีการทำความเข้าใจต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการประมงทั้ง 6 จังหวัดอันดามัน ได้ข้อสรุป โดยทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนราชการ และภาคเอกชนจะร่วมมือกันในการดำเนินการเพื่อให้สามารถปลดล็อกใบเหลืองของ EU ได้ สำหรับสถานการณ์ในส่วนของ ศรชล.เขต 3 โดยภาพรวมยังมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขไม่มากนัก ปัญหาหลักคือ เรื่องของทะเบียนเรือ อาชญาบัตรในการทำการประมง และการติดตั้งระบบ VMS ในเรือประมง
สำหรับจำนวนเรือที่ต้องรายงานใน ศรชล.เขต 3 ในขณะนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ลำ โดยเราจะตรวจสอบจากฐานข้อมูลของกรมเจ้าท่า และเชิญทางเจ้าของเรือเข้ามาให้ข้อมูลต่อเรา เพื่อเป็นการตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เรือที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปมีจำนวนจริงๆ เหลืออยู่กี่ลำ มาตรการทั้งหมดก็เป็นไปตามแนวทางที่ทาง ศปมผ.จากส่วนกลางกำหนดมาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ศรชล.เขต 3 คิดว่าภายใน 6 เดือนน่าจะแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้มากพอสมควร พล.ร.ท.สายันต์ กล่าวในที่สุด