xs
xsm
sm
md
lg

กองกำลังบุรีรัมย์รุกตัดโค่นยางพาราในป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ - กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.บุรีรัมย์ สนธิกำลังป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง กว่า 200 นายเดินหน้าโค่นยางพาราที่ชาวบ้านบุกรุกปลูกและสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก หวังฟื้นฟูคืนความอุดมสมบูรณ์เป็นป่าต้นน้ำ

วันนี้ (27 ก.ค. 58) พลตรี เดชอุดม นิชรัตน์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายสมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง นำกำลังทหารจากกองรักษาความสงบเรียบร้อย จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ตำรวจ สภ.โนนดินแดง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอโนนดินแดง และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน กว่า 200 นาย เข้าทำการตัดโค่นต้นยางพารา จำนวน 96 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์

ทั้งนี้ ที่ดินแปลงดังกล่าวถูกชาวบ้านเข้าไปบุกรุกปลูกยางพาราและครอบครอง สร้างที่อยู่อาศัยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้แจ้งความดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้บุกรุก และศาลมีคำสั่งให้กลุ่มผู้บุกรุกรื้อถอนพืชผล ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยปฏิบัติการตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่ที่บุกรุกครั้งนี้เพื่อจะได้ทำการฟื้นฟูปลูกป่าทดแทนให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยสัตว์ป่า และเป็นป่าต้นน้ำ จากข้อมูลพบว่ามีพื้นที่ป่าดงใหญ่ที่ถูกบุกรุกจับจองกว่า 18,000 ไร่ ขณะนี้ได้ขอคืนพื้นที่และผลักดันผู้บุกรุกออกจากป่าแล้ว เหลือเพียงป่ายางบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการตัดโค่นออก

พลตรี เดชอุดม นิชรัตน์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการตัดโค่นต้นยางที่บุกรุกปลูกในป่าดงใหญ่ครั้งนี้เป็นความร่วมมือหลายฝ่าย เพื่อผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฟื้นฟูให้เป็นป่าต้นน้ำ

จากข้อมูลพบว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เนื้อที่ 195,486 ไร่ มีพื้นที่ป่าที่เตรียมผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่จำนวน 18,875 ไร่ อยู่ในท้องที่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,845,000 ไร่ หรือ 6,152 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 เนื่องจากยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญหลายสาย ทั้งมีทรัพยากรป่าไม้หลากหลายชนิด และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุม เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง หมี เสือโคร่ง เลียงผา ผีเสื้อ และนกนานาชนิด จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้
พลตรีเดชอุดม นิชรัตน์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์



กำลังโหลดความคิดเห็น