xs
xsm
sm
md
lg

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุรีรัมย์เร่งปลูกป่าพื้นที่บุกรุก ฟื้นฟูต้นน้ำ-รักษามรดกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ - เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่บุรีรัมย์ระดมส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน และนักเรียนกว่า 1,000 คน เดินหน้าปลูกป่าในพื้นที่ที่ถูกราษฎรเข้าไปบุกรุกทำกิน และภาครัฐได้ดำเนินการทวงคืน เพื่อฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธารป้องกันการบุกรุกซ้ำ และรักษาแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลาย

วันนี้ (28 ก.ย.) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับหลายภาคส่วนทั้งอำเภอ วัด โรงเรียน และชุมชนรอบพื้นที่ป่าดงใหญ่ เดินหน้าปลูกป่าในโครงการ “ปลูกป่าแบบประชาอาสาเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 83 พรรษา มหาราชินี” ที่บริเวณป่าเขาหินสอง ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกราษฎรเข้าไปบุกรุกทำกินและทางภาครัฐได้ดำเนินการทวงคืนแล้ว

โครงการปลูกป่าแบบประชาอาสาในครั้งนี้เพื่อป้องกันการกลับเข้าไปบุกรุกซ้ำและบุกรุกพื้นที่ใหม่ของราษฎร ทั้งเป็นการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร ปลุกจิตสำนึกและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า เพื่อรักษาแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทยให้คงอยู่ตลอดไป

ทั้งนี้ ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 3,845,000 ไร่ หรือ 6,152 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก “ยูเนสโก้” เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 เนื่องจากสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำมูล มีสัตว์ป่าชนิดสำคัญอาศัยอย่างชุกชุม เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง หมี เสือโคร่ง

โดยการปลูกป่าแบบประชาอาสาในพื้นที่ดังกล่าวจะปลูกในเนื้อที่ 40 ไร่ ต้นไม้ที่นำมาปลูก ได้แก่ ต้นพะยูง ประดู่ มะค่าโมง และยางนา โดยกิจกรรมการปลูกป่าแบบประชาอาสาในครั้งนี้ได้มีทั้งส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ พระภิกษุสงฆ์ กลุ่มพลังมวลชน จากพื้นที่อำเภอปะคำ อำเภอโนนดินแดง รวมทั้งราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า และนักเรียน นักศึกษา รอบพื้นที่ป่าดงใหญ่มาร่วมปลูกต้นไม้กว่า 1,000 คน

ด้านนายยุทธชัย ปัทมสนธิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดว่า โครงการปลูกป่าแบบประชาอาสาดังกล่าวเพื่อป้องกันการกลับเข้าไปบุกรุกซ้ำและบุกรุกพื้นที่ใหม่ ทั้งเป็นการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์และรักษาสมดุลทางระบบนิเวศ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการทวงคืนพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกแล้วกว่า 18,000 ไร่ และมีเป้าหมายจะปลูกป่าทดแทนหรือฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง





กำลังโหลดความคิดเห็น