ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำปิงถอนหายใจโล่งอก รอดวิกฤตน้ำแห้งจนปลาที่เลี้ยงไว้ขาดออกซิเจนหวิดตายเกลี้ยง หลังชลประทานเชียงใหม่ปรับรอบการเปิดปิดประตูระบายน้ำท่าวังตาลเข้าช่วย จากเดิมเปิดปิดรอบละ 7 วัน เป็นเปิด 4 วัน ปิด 3 วัน
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ภาวะภัยแล้งและฝนตกทิ้งช่วงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชต่างๆ แล้ว ยังส่งผลสร้างความเดือดร้อนแก่กลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำปิงด้วยเช่นกัน เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายดวงคำ หินมี อายุ 53 ปี ผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำแม่ปิง ในพื้นที่บ้านท่าขี้ควาย ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากภาวะแล้งของปีนี้ได้ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงกว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ระดับน้ำลดลงมากจนปลาทับทิมที่เลี้ยงไว้ตกอยู่ในสภาพขาดน้ำและขาดออกซิเจนอย่างหนัก รวมทั้งกินอาหารลดลงจากปกติเกือบเท่าตัว จนทำให้ปลาทั้งหมดเกือบตาย
จากสถานการณ์ดังกล่าวทางกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำปิงจึงได้รวมตัวยื่นหนังสือเรียกร้องให้ทางชลประทานเชียงใหม่ปล่อยน้ำจากประตูน้ำท่าวังตาล เพื่อให้ความช่วยเหลือก่อนที่จะได้รับความเสียหายทั้งหมด
ล่าสุดทางชลประทานได้มีการปล่อยระบายน้ำให้แล้ว จากเดิมที่จะมีรอบการปล่อยน้ำ 7 วัน เว้น 7 วัน เปลี่ยนเป็นเปิดประตูน้ำ 4 วัน ปิด 3 วัน ส่งผลทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ในกระชังได้รับออกซิเจนมากขึ้นจนกลับมาอยู่ในสภาพปกติแล้ว และกินอาหารได้มากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของปลา โดยปลาที่เลี้ยงไว้เมื่อโตเต็มที่จะมีราคาขายที่หน้ากระชังกิโลกรัมละ 92 บาท ซึ่งเป็นราคาที่อยู่ในระดับทรงตัว
ด้านนายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำโครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า จากการที่ชลประทานเชียงใหม่ได้ตัดสินใจเปิดประตูระบายเพิ่มเป็น 5.2 ลบ.ม./วินาที หรือ 450,000 ลบ.ม./วัน ในขณะนี้ได้ส่งผลดีต่อผู้เลี้ยงปลาในกระชังเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่จะประสบปัญหากับการขาดน้ำเนื่องจากฝนที่ตกทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จนทำให้น้ำที่กักเก็บไว้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ในเมื่อมีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนทางชลประทานก็พร้อมที่จะทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทางเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลก็ได้ระบายน้ำช่วยชาวสวนลำไยและพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดยเพิ่มปริมาณน้ำจากปกติที่ระบาย 2.7 ล้าน ลบ.ม.เป็น 4 ล้าน ลบ.ม. และเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเสียหายก่อนที่จะเก็บผลผลิตไม่มากก็น้อย