อุตรดิตถ์ - เกษตรกรเลี้ยงปลากระชังลำน้ำน่านยังยิ้มได้ บอกขอแค่เขื่อนอย่าปล่อยน้ำต่ำกว่า 5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันเป็นพอ หลังเตรียมตัวขุดร่องน้ำลึก ตักทรายรอบกระชังออกให้น้ำวนทุกวันไว้แล้ว
นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ ยืนยันว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นทำให้เกิดสภาวะฝนแล้งที่ยาวนานกว่าปกติ ทำให้น้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้อยมาก ประกอบกับได้เร่งระบายน้ำให้เกษตรกรที่เริ่มฤดูกาลการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ 1 พ.ค. 58 เป็นต้นมา ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างรวดเร็ว
โดยขณะนี้ทางเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำพร้อมใช้งานอยู่ที่ 673.89 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับ 10.12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงต้องทำการลดปริมาณการระบายน้ำลงเหลือเพียงวันละ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำเข้าสู่ขั้นวิกฤต หากไม่มีฝนตกลงมาไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเลย
ขณะเดียวกัน แหล่งน้ำหลายแห่งทั่วทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ก็เริ่มลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นวิกฤตแล้งหนักที่สุดในรอบ 10 ปี รวมทั้งเขื่อนสิริกิติ์ลดการระบายน้ำลง ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกพืชฤดูแล้งและเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังในลำน้ำน่าน ซึ่งมีมากกว่า 1,000 กระชัง สร้างรายได้แก่เกษตรกรปีละหลายล้านบาท ต่างวิตกกังวลจะไม่มีน้ำใช้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 58 นี้
นางมาลี ต่ายทอง อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 3/2 หมู่ 2 ต.วังกะพี้ อ.เมืองอุตรดิตถ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังรายใหญ่ของวังกะพี้ ที่เลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม และปลากด จำนวน 72 กระชัง บอกว่า ปกติจะปล่อยลูกปลากระชังละ 1,000 ตัว แต่ปัจจุบันลดจำนวนการปล่อยลูกปลาเหลือเพียงกระชังละ 800-850 ตัว เพื่อลดปัญหาการแออัดของปลา
นางมาลีกล่าวอีกว่า การที่เขื่อนสิริกิติ์ได้ลดปริมาณการปล่อยน้ำลงเหลือเพียง 22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเพื่อเป็นการบรรเทาและป้องกันภัยแล้ง และปริมาณน้ำในเขื่อนได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังอยู่บ้างแต่ก็ยังยอมรับได้ เนื่องจากทางเขื่อนก็ได้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้เลี้ยงปลามาตลอด
พร้อมกันนั้น ตนก็ได้ขุดทรายบริเวณร่องน้ำเพื่อให้ร่องน้ำลึกขึ้น กันไม่ให้ปลาขาดน้ำ และช่วงตี 4 ของทุกคืนก็จะต้องลงไปขุดทรายบริเวณร่องน้ำด้านข้างกระชังปลาขึ้นมาทิ้งริมตลิ่งทุกคืนเพื่อให้น้ำได้ไหลวนไปรอบๆ กระชังปลา ทำให้ไม่มีปลาน็อกน้ำตายมากนัก
“แต่หากเป็นไปได้อยากจะให้ทางเขื่อนอย่าลดการปล่อยน้ำจนน้อยกว่าวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังอยู่กันได้อย่างสบาย”