ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.ทลฉ.แถลงนโยบายดำเนินงานปี 58 เน้นทั้งการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ และทางราง ควบคู่ดูแลชุมชน และยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ฟุ้งเพียงไตรมาส 1 เข้าไตรมาส 2 ยอดขนส่งสินค้าโตแล้ว 7%
เมื่อคืนวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ได้จัดงานแถลงนโยบาย และพบสื่อมวลชน ณ ห้องจัดเลี้ยงพิพิธภัณฑ์ขนส่งทางน้ำเฉลิมพระเกียรติฯ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือฯ เป็นประธานเปิดงาน และกล่าวแถลงผลการดำเนินงานในปี 2558 และมีผู้บริหารในส่วนต่างๆ ของท่าเรือฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก
ร.อ.สุทธินันท์ เผยว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ท่าเรือแหลมฉบัง เดินหน้าพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งทางราง และทางน้ำเพื่อให้ทันต่อการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในภูมิภาคอาเซียน และรองรับการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่ที่จะตัดผ่าน ชลบุรี -พัทยา-ระยอง ขณะที่การพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางบกสู่การขนส่งทางน้ำ ที่จะลดทั้งการใช้พลังงาน และปริมาณรถยนต์บนท้องถนนก็มีความคืบหน้าตามแผนงาน โดยท่าเรือฯ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบผูกพันในปี 2559-2560 และเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับการเข้าเทียบท่าของเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่กินน้ำลึก 10 เมตรได้พร้อมกันถึง 2 ลำ และจะสามารถรองรับจำนวนตู้สินค้าได้อีกมาก
ส่วนการแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบังนั้น กรมทางหลวง ได้สนับสนุนการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อจากถนนหลายสายเพื่อเข้าสู่ท่าเรือฯ เช่น การก่อสร้างถนนเชื่อมต่อจากสาย 7 เข้าสู่แยกท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งการขยายช่องทางจราจรจาก 4 ช่องจราจร เป็น14 ช่องจราจรที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 และขณะนี้ท่าเรือฯ ยังมีโครงการเพิ่มช่องทางเข้า-ออกยังประตูขนส่งสินค้าต่างๆ ภายในท่าเรือฯ อีกเกือบเท่าตัว เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของถนนสายต่างๆ ที่จะตัดเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังอีกด้วย
ส่วนนโยบายการพัฒนาชุมชนนั้น ท่าเรือแหลมฉบังได้จัดทำโครงการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษให้แก่โรงเรียนต่างๆ ที่อยู่รอบชุมชนท่าเรือฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพการสื่อสารภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนในพื้นที่ที่ขณะนี้พบว่า ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการจัดโครงการคืนความสุขให้แก่ประชาชนด้วยการเปิดโอกาสให้หน่วยงาน และสถานศึกษาต่างๆ เข้าชมพิพิธภัณฑ์ขนส่งทางน้ำเฉลิมพระเกียรติฯ ที่จะให้ความรู้เรื่องการขนส่งสินค้าทางน้ำ การปรับปรุงสนามกีฬาภายในพื้นที่ การรณรงค์วัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในชุมชนฯลฯ
“ผลการดำเนินงานในปี 2557 เรามียอดการเติบโตของตู้สินค้าที่ขนถ่ายผ่านท่าประมาณ 7-8% หรือประมาณ 6.5 ล้านทีอียู สวนทางต่อภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และหากการพัฒนาในท่าเทียบเรือเฟส 2 สมบูรณ์ 100% ก็จะทำให้ศักยภาพการรองรับตู้สินค้าเพิ่มได้สูงถึง 12 ล้านทีอียู ซึ่งหากท่าเรือฯ ยังมีขีดความสามารถในการรองรับสินค้าได้เช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟสใหม่ ขณะที่ในช่วงไตรมาส 1 เข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2558 ยอดการขนถ่ายสินค้าเติบโตแล้วไม่น้อยกว่า 7% แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แม้ตู้สินค้าผ่านท่าจะมีจำนวนมาก แต่มูลค่าของสินค้าที่ส่งออกยังน้อยอยู่ จึงฝากถึงผู้ประกอบการให้เร่งพัฒนามูลค่าสินค้าเพื่อยกระดับการส่งออกให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น” ร.อ.สุทธินันท์ กล่าว