xs
xsm
sm
md
lg

สนง.พิงคนคร ดันขนส่งมวลชนเชียงใหม่ สุดตัว หลังเทงบศึกษาแล้ว 30 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – สำนักงานพัฒนาพิงคนคร ดันขนส่งมวลชนเชียงใหม่สุดตัว พร้อมหนุนใช้ระบบ Tram กม.ละ 400 ล้าน หลังเทงบ 30 ล้านศึกษาความเหมาะสม ผู้ว่าฯยอมรับควรมีตั้งแต่ 11 ปีก่อน แต่ยังต้องสรุปร่วมกับรายงานการศึกษา สนข.ด้วย

วันนี้(23 พ.ค.) นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอผลการศึกษา และรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาวิจัยความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งมวลชน เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ที่สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) จัดขึ้น ณ ห้องลีลาวดี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังกันเป็นจำนวนมาก

นายสุริยะ กล่าวว่า โครงการนี้จะต้องมีมาตั้งแต่ 11 ปีที่แล้ว แต่จากที่ได้สอบถามไปยังนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ทำไมศึกษาเสร็จแล้วจึงไม่มีการผลักดันให้เกิดโครงการ ส่วนตัวรู้สึกเสียดายเพราะจังหวัดเชียงใหม่ มีการเติบโตขึ้นสูงขึ้น ระบบขนส่งมวลชนจะต้องรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ถ้าเรามีระบบนี้เมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว รถจะไม่ติดมากขนาดนี้

“เพราะฉะนั้นการประชุมในวันนี้ จะต้องผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และในวันนี้ถือว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องเกิด เมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยวในภาคเหนือ ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมาตรฐานมันเป็นไปได้อย่างไร แล้วมันจะทำให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจยังยืนได้อย่างไร”

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงบประมาณที่นำมาใช้ในการศึกษาโครงการครั้งนี้ ใช้งบของสำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน) จำนวนทั้งสิ้น 30 ล้านบาท ใช้เวลาการศึกษาทั้งหมด 8 เดือน หลังศึกษาเสร็จจะต้องมีการประสานงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)เพื่อนำผลการศึกษาทั้งหมด มาสรุปผลอีกต่อไป

“ตั้งเป้าไว้ว่า คนเชียงใหม่จะได้ใช้จริงอย่างเร็วที่สุด แต่ตามข้อเท็จจริงจะได้ใช้ประมาณปีหน้าในบางเส้นทาง แต่อยู่ที่ระบบที่จะนำเข้าใช้ หากเป็นระบบ BRT ก็จะใช้แค่สั่งรถเข้ามาตีเส้น เพื่อกำหนดเส้นทางก็สามารถทำการก่อสร้างเส้นทาง ใช้เวลา 1 ปี ก็เสร็จแล้ว แต่ถ้าเป็นระบบ Tram ก็ต้องมีการวางระบบไฟฟ้า และหาคนมาลงทุน รวมถึงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะต้องเลื่อนไปอีก 1-2 ปี แต่แน่นอนว่าวันนี้จะต้องเดินอย่างจริงจัง”

ด้านนายศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อพี่น้องประชาชนในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่จะเป็นสิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชาวเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงการอำนวยการความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว แหล่งรายได้ของเชียงใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หลังจากที่ได้หารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแหง่ประเทศไทย (รฟม.)และนักวิชาการ ก็ได้นำความคิดเห็นจากประชาชนในการประชุมครั้งที่ 1 มาดำเนินการ คือ การเลือกเส้นทางมาทำ 1 เส้นทางที่เป็นระยะทางสั้นๆ ซึ่งตรงกับประสบการณ์ของทางด้าน รฟม.พอดีว่า โครงการแรกควรจะทำระยะทางสั้นๆ และให้ได้ประโยชน์ โดยระยะทางไม่เกินต้อง 20 กิโลเมตร

ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ นักท่องเที่ยวมาจากสนามบิน และไม่มีขนส่งมวลชนที่รองรับ ตัวรถที่ใช้จะต้องสามารถนำจักรยานขึ้นไปบนตัวรถได้ด้วย เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องที่ใช้จักรยาน ดังนั้นเห็นว่า เทคโนโลยีระบบขนส่งสายหลักที่เหมาะสมสำหรับเมืองเชียงใหม่ คือรถไฟฟ้าแบบราง (Tram) ด้วยจุดเด่น อาทิ ความจุในการขนส่ง, ไม่ปล่อยมลภาวะ, มีความคล่องตัว, สะดวกสบายในการเดินทาง และตรงเวลา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท ต่อ 1 กิโลเมตร

โดยกำหนดโครงการเครือข่ายเส้นทางจากความคับคั่งของการสัญจรของประชาชน, การขยายตัวเมือง, สถานที่สำคัญ, สถานที่ท่องเที่ยว, การลดปริมาณจราจร และการให้บริการของสี่ล้อแดง ทั้งนี้ได้แบ่งระยะการดำเนินการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ออกเป็น 2 ระยะ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอแผนการก่อสร้างระยะที่ 1 (5-15 ปี) ประกอบด้วย เส้นทางรถไฟฟ้าแบบราง 5 เส้นทาง โดยมีเส้นทางหลักที่ควรจะเริ่มดำเนินการเป็นลำดับแรก 3 ช่วง ในลักษณะของการวิ่งวนได้แก่ 1. เส้นทางสายเหนือ – ใต้ (สายสีแดง) โดยจะมีสถานีเริ่มต้นจากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานชาติด้านทิศเหนือของตัวเมืองลงมายังตัวเมืองวนรอบตัวเมืองตามเข็มนาฬิกาและวกกลับไปยังสถานีต้นทาง

2.สายเหนือ –ใต้ส่วนล่าง (สายสีน้ำเงิน) มีสถานที่เริ่มต้นจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ขึ้นเหนือผ่านสนามบินเชียงใหม่ไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ และวนกลับไปยังเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

3. สายตะวันตก – ตะวันออก (สายสีเหลือง) จากสวนสัตว์เชียงใหม่ ผ่านมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิ่งไปทางทิศตะวันออกรอบตัวเมืองก่อนจะวกกลับออกไปทางโรงพยาบาลสวนดอกและกลับไปยังต้นทาง
นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
นายศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร










กำลังโหลดความคิดเห็น