xs
xsm
sm
md
lg

แนะเรือติด VMS ปลดล็อก EU กรมประมงเชื่อ มิ.ย.แล้วเสร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมประมง แนะผู้ประกอบการเรือประมงเร่งติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) หนุนปลดล็อกใบเหลืองจากอียู เชื่อสิ้นเดือนมิถุนายนนี้แล้วเสร็จ

ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) โดยบูรณาการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดยเร็ววัน ตามที่สหภาพยุโรป (EU) ได้มีการประกาศให้ใบเหลืองเมื่อปลายเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา

ในส่วนของมาตรการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง (Monitoring, Control and Surveillance : MCS) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไข และกรมประมงได้เร่งดำเนินการอยู่นั้น

ขณะนี้ในส่วนของการติดตั้งระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System : VMS) นั้น กรมฯ ได้เร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เจ้าของเรือประมงติดตั้งอุปกรณ์ VMS ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขณะนี้กรมเจ้าท่าได้ออกกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือเพื่อใช้บังคับกับเรือประมง และเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นที่มีขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดตั้งอุปกรณ์ VMS ก่อนต่อใบอนุญาตใช้เรือ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา

ส่วนเรือประมงขนาด 30-60 ตันกรอสก็ต้องดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ VMS ภายใต้ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2558 นี้ต่อไป

โดยรายละเอียดของการติดตั้ง VMS สำหรับเรือประมง และเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นที่มีขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป รวมประมาณ 1,800 ลำนั้น ผู้ประกอบการเรือประมงสามารถหาซื้อ และติดตั้งอุปกรณ์ VMS ได้ด้วยตนเอง โดยมาตรฐานสมรรถนะของอุปกรณ์และข้อกำหนดเชิงหน้าที่ (Performance Standards and Functional Requirements) จะต้องเป็นไปตามที่ศปมผ. กรมประมง และกรมเจ้าท่า ร่วมประกาศกำหนด

คาดว่าจะต้องติดตามให้ทุกลำติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยมีค่าใช้จ่ายต่อลำไม่เกิน 30,000 บาท (เดิมราคาต่อหน่วยสูงเกือบหนึ่งแสนบาท ปัจจุบันนี้ถูกลงมากเนื่องจากมาตรฐานกลางอุปกรณ์ที่ราชการประกาศกำหนดและกลไกตลาด และเสียค่าบริการรายเดือนอีกประมาณ 900 บาทต่อเดือน (หากส่งตำแหน่งเรือทุก 3 ชั่วโมง) โดยอุปกรณ์ VMS จะทำหน้าที่รายงานตำแหน่งเรือที่ทำการประมงกลับมายังกรมประมงแบบอัตโนมัติ

โดยผู้ประกอบการเจ้าของเรือประมงสามารถติดตามการเดินเรือของตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากโปรแกรมของกรมประมงผ่านทางโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์แบบ Tablet และหากเกิดปัญหาขึ้นต่อการเดินเรือก็สามารถประสานขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ข้อมูลเส้นทางเดินเรือยังใช้ประโยชน์ในการวางแผนการออกเรือในแต่ละครั้งเพื่อคำนวณปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การนำสัตว์น้ำขึ้นท่า การแจ้งเวลาที่เรือจะเทียบท่า (Port In) ตลอดจนใช้ในการกำหนดเวลาที่เรือจะออกทำการประมงในรอบถัดไป (Port Out) อีกทั้งยังใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายในกรณีเกิดปัญหาในการทำประมงได้อีกด้วย

ส่วนภาครัฐสามารถใช้ติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมประมงกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการควบคุมระบบ VMS เพื่อรองรับการขยายตัวการติดตั้งอุปกรณ์ VMS บนเรือประมงทั้งใน และนอกน่านน้ำ

โดยปัจจุบัน มีเรือประมงที่ทำการประมงนอกน่านน้ำอยู่จำนวนกว่า 70 ลำ มีการติดตั้งอุปกรณ์ VMS และรายงานตำแหน่งเรือแล้ว 43 ลำ ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2558 นี้ เพื่อให้สอดคล้องตามระเบียบที่สหภาพยุโรปกำหนดต่อไป
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง
กำลังโหลดความคิดเห็น