xs
xsm
sm
md
lg

“หนองคายน่าอยู่” ทุ่มพันกว่าล้านสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บ.หนองคายน่าอยู่ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ งบก่อสร้างกว่าพันล้านบาท
หนองคาย - บริษัทหนองคายน่าอยู่ วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน ทุ่มงบพันกว่าล้าน คาดปี 60 เปิดใช้ ขณะที่มีชาวบ้านบางส่วนคัดค้าน ไม่เอาโรงไฟฟ้าในพื้นที่

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (10 พ.ค.) ที่บริเวณสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน บ้านป่าตอง ต.โพนสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย พลเอก เกรียงไกร บุรินทร์วัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพไทย ที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย นายธีรวัฒน์ โตมโหฬารทวีศรี ประธานบริหารบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด พร้อมคณะและชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงจำนวนมาก ร่วมกันประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สถานที่ก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน

โดยที่ห่างจากจุดที่ประกอบพิธีประมาณ 200 เมตร มีชาวบ้านประมาณ 30 คนรวมตัวกันถือป้ายข้อความคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าว

นายธีรวัฒน์ โตมโหฬารทวีศรี ประธานบริหารบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ภาคอีสานที่ตอบรับนโยบายด้านพลังงาน และการกำจัดขยะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยกให้การแก้ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ และทางบริษัทได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินการ

หลังจากวางศิลาฤกษ์แล้วก็จะเริ่มก่อสร้างทันที ใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือน คาดว่าปี 2560 จะแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการ งบประมาณตั้งไว้ที่พันล้านบาทเศษ ภายในพื้นที่ 230 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า 60 ไร่ เป็นโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนขนาด 4.9 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนีและญี่ปุ่นในการกำจัดขยะแบบครบวงจร ไร้มลพิษ เป็นระบบที่ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

โดยบริษัทจะสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน รับประชาชนเข้ามาทำงานในโรงไฟฟ้าทุกตำแหน่ง และจะเป็นที่ทัศนศึกษาของสถานศึกษาในอนาคต ซึ่งโครงการนี้ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ และได้รับการอนุมัติจากจังหวัดหนองคายแล้ว ระยะแรกมีชาวบ้านจำนวนมากไม่เข้าใจ เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางบริษัทได้ยืนยันและพาไปชมโรงไฟฟ้าลักษณะเดียวกันนี้ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งชาวบ้านก็เข้าใจมากขึ้นและเห็นดีให้มีการก่อสร้าง ส่วนที่มีบางกลุ่มยังคัดค้านอยู่ก็ไม่หนักใจ ทางบริษัทจะเดินหน้าทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้อีกครั้ง

ขณะที่ นางณัฐรดา ศิริเพชร ตัวแทนผู้คัดค้าน กล่าวว่า วันนี้ชาวบ้านมารวมตัวกันแสดงพลังไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้านี้ในพื้นที่เพราะไม่ต้องการให้มีมลพิษเกิดขึ้น การทำประชามติถูกลิดรอนสิทธิ ชาวบ้านไม่ทราบข้อมูลอย่างครอบคลุม ผู้นำที่ไปดูงานก็ให้คำตอบไม่ชัดเจน โดยจะทำเรื่องคัดค้านไปยังรัฐบาลและ คสช.ต่อไป

โครงการดังกล่าวใช้เวลาก่อสร้าง18เดือน คาดปี 2560 เริ่มเดินเครื่องได้
กำลังโหลดความคิดเห็น