xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” ชี้หากจีนยังเห็นแก่ได้ รถไฟสายหนองคาย-มาบตาพุด ริบหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สามารถ ราชพลสิทธิ์ (แฟ้มภาพ)
อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.ชี้โอกาสจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงสายหนองคาย-มาบตาพุด ริบหรี่ หากจีนยังเอาเปรียบเห็นแก่ได้ ทั้งดอกเบี้ยสูง ขอออกแบบก่อสร้าง บริการจัดการเดินรถเอง ขณะที่ญี่ปุ่นให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวใจความว่าตนได้วิเคราะห์ “เรื่อง จีน-ญี่ปุ่น ใครจะได้ลุ้นสร้างรถไฟ (กึ่ง) ความเร็วสูงไทย” ไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า จีนได้เส้นทางดีกว่าญี่ปุ่น เพราะจะได้รับประโยชน์จากเส้นทางเชื่อมจีน-ไทย หากจีนไม่หวังผลตอบแทนจากการลงทุนมากนักก็น่าจะมีโอกาสได้งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 133 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางที่รัฐบาลต้องการมอบให้ญี่ปุ่นนั้น คือ เส้นทางพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-สระแก้ว-กัมพูชา เป็นเส้นทางที่ญี่ปุ่นไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง อีกทั้งเส้นทางนี้ยังขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายอีกด้วย ทำให้ยากที่จะเจรจากับญี่ปุ่นจนบรรลุผลสำเร็จได้มาถึงวันนี้ การเจรจารายละเอียดกับจีนยกแรกเพิ่งผ่านไป ในขณะที่การเจรจากับญี่ปุ่นยังไม่เริ่มขึ้น มีแต่เพียงการไปเยือนญี่ปุ่นพร้อมกับทดลองนั่งชินคันเซ็น หรือรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแรกของโลกจากกรุงโตเกียวไปสู่โอซาก้า โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะเมื่อเร็วๆ นี้เท่านั้น ผลการเจรจากับจีนครั้งที่ 1 ปรากฏว่าจีนเสนอเงินกู้ให้ไทยใช้ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-ไทย โดยมีเงื่อนไขดังนี้

1. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 2-4% ต่อปี ซึ่งแพงกว่าดอกเบี้ยที่ญี่ปุ่นให้ไทยกู้เงินก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่มีอัตราดอกเบี้ย 1.4% ต่อปี หากย้อนดูอดีตจะพบว่าญี่ปุ่นเคยให้ไทยกู้เงินก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำมาก คือคิดเพียงแค่ 0.75% ต่อปีเท่านั้น

2. ระยะเวลาปลอดหนี้ 4 ปี ในขณะที่เงินกู้ของญี่ปุ่นสำหรับก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้ระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี 3. ระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ 20 ปี ในขณะที่เงินกู้ของญี่ปุ่นสำหรับก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้ 25 ปี

ดูเงื่อนไขเงินกู้แล้วเห็นได้ว่าจีนสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ กล่าวคือจีนต้องการผลประโยชน์จากการให้กู้เงินมากกว่าญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้นจีนยังต้องการให้ไทยใช้เทคโนโลยีรถไฟของจีน พร้อมทั้งให้จีนออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการเดินรถ แนวทางการลงทุนเช่นนี้จะทำให้จีนได้รับประโยชน์จากเงินกู้ ได้กำไรจากการขายขบวนรถไฟ ระบบราง ระบบตั๋ว ระบบจ่ายไฟ และระบบอาณัติสัญญาณและสื่อสาร ได้กำไรจากการออกแบบและก่อสร้าง และยังได้กำไรจากการรับจ้างบริหารจัดการเดินรถอีกด้วยด้วย เหตุนี้หากจีนไม่ยอมเปลี่ยนแนวคิดที่จะหารูปแบบการลงทุนใหม่ โดยจีนจะต้องยอมรับภาระความเสี่ยงจากการลงทุนร่วมกับไทย เช่น จัดตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน ไม่หวังที่จะหาประโยชน์จากการลงทุนอย่างเดียว โอกาสที่จะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงเส้นทางเชื่อมจีน-ไทยคงริบหรี่


กำลังโหลดความคิดเห็น