“ประยุทธ์” ให้สื่อให้ไปอ่านหนังสือพิมพ์ดูข่าวห้าม “ยิ่งลักษณ์” ไปฮ่องกง ขณะเดียวกัน นายกฯ บินเยือนญี่ปุ่น สานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เตรียมลงนามพัฒนาระบบราง เจรจาธุรกิจ-การลงทุน พร้อมทดลองนั่งชินคันเซ็น
ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง เช้าวันนี้ (8 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเยือนญี่ปุ่น ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คสช.ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปฮ่องกง ตามที่ยื่นหนังสือขอเดินทางไปต่างประเทศ 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.ต่อ คสช.ว่า “ให้ไปอ่านหนังสือพิมพ์ดูนะ หนังสือพิมพ์เขาเขียนว่าอย่างไร” ก่อนนายกฯ บินเยือนญี่ปุ่น สานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เตรียมลงนามพัฒนาระบบราง เจรจาธุรกิจ-การลงทุน พร้อมทดลองนั่งชินคันเซ็น
ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 08.50 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และภริยา พร้อมคณะรัฐมนตรี อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ ตามคำเชิญของนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยมีกำหนดเดินทางไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ กรุงโตเกียว ในเวลา 16.55 น.ในวันเดียวกัน
ภารกิจสำคัญในการเยือนครั้งนี้ ได้แก่ การเข้าเฝ้าฯ มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ การหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยจะมีการหารือในประเด็น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบราง การพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยสู่ญี่ปุ่น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้หารือกับประธานกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาญี่ปุ่น-ไทย การพบปะกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น ได้แก่ ประธานและผู้บริหารระดับสูงของสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) ที่กรุงโตเกียว ประธานและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเศรษฐกิจที่สำคัญในเขตคันไซ ที่นครโอซากา รวมถึงประธานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่น อาทิ ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และมิตซุย คอร์ปอเรชั่น
ในการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสาร 2 ฉบับ คือบันทึกแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intent : MOI) เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาระบบราง โดยระบุเส้นทางที่มีความสำคัญลำดับต้นที่สองฝ่ายจะร่วมมือพัฒนา และการยกระดับกลไกคณะทำงานระบบรางไทย-ญี่ปุ่น เป็นระดับรัฐมนตรีเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยให้รัฐมนตรีคมนาคมสองฝ่ายลงนาม และบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation : MOC) เกี่ยวกับความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจไทยในญี่ปุ่น ญี่ปุ่นในไทย และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันในประเทศที่ 3 ระหว่าง JETRO กับคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน และเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมและทดลองนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงชินคันเซ็น