xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ญี่ปุ่น หารือร่วมลงทุนระบบราง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 ก.พ.) เวลา 11.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทย ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือร่วมกับภาครัฐและภาคธุรกิจของญี่ปุ่นหลายราย รวมถึงได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ไทยได้เน้นย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และความร่วมมือในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนด้วยการสนับสนุนไทยให้เป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตในภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบราง และได้นำเสนอเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามแนวชายแดน 4 ประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมโอกาสทางเศษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม โอกาสการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้รับฟังบรรยายสรุปเรื่องการพัฒนาด้านระบบรางของญี่ปุ่น และเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น ที่สถานีรถไฟโตเกียว และได้โดยสารรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น เดินทางไปยังนครโอซากา ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พอใจการเดินทางเยือนครั้งนี้ เพราะญี่ปุ่นให้เกียรติไทยอย่างเต็มที่ และได้มีการพูดคุยกันในหลายมิติ มีการนำปัญหาและอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนมาร่วมกันแก้ไข และหาแนวทางการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ขณะที่เรื่องการพัฒนาระบบรางของไทย ได้นำเสนอแนวทางการร่วมทุน เนื่องจากไทยมีที่ดินอยู่แล้ว โดยเชื่อว่าหาก
ไทยมีรถไฟความเร็วสูง จะทำให้ได้รับประโยชน์ในด้านการค้าขาย ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เนื่องจากตลอดเส้นทางการเดินรถไฟและสถานีจะสามารถทำการค้าขายได้
ส่วนสถานการณ์การเมืองของไทยนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ญี่ปุ่นเข้าใจและเชื่อมั่นด้วยดี ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า ไทยเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยตามแผนโรดแมป ที่วางไว้ โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จะใช้เวลาอีกไม่นาน และคาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปี 2559 และได้ยืนยันว่า ตนเองเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ให้มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน
เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบปรับโอนภารกิจกำกับดูแลเรื่องความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่น สำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือ JTEPAจากกระทรวงพาณิชย์ ให้กลับไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงการต่างประเทศเช่นเดิม เนื่องจากในความตกลงJTEPA มีนัยยะทางการเมืองและการต่างประเทศ ที่มีกรอบความตกลงมากกว่าการค้าเสรีทั่วไป เช่น เรื่องการศึกษา ทรัพยากรมนุษย์ เรื่องวิสาหกิจ การท่องเที่ยว การส่งเสริมสภาพแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น