“วิลาศ” เปิดแผลใหม่ กทม. ผลาญงบจัดซื้อเครื่องดนตรีกว่าพันล้าน อ้างพัฒนาทักษะด้านดนตรีให้เด็กในสังกัด กทม. พบกองทิ้งเป็นสุสาน เหตุไม่มีครูชำนาญด้านเฉพาะ เตรียมแฉ 7 ธ.ค. หลังพบที่ปรึกษาสั่งโรงเรียนเชิงข่มขู่ห้ามให้ข้อมูล
วันนี้ (3 ธ.ค.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากตนทำการตรวจสอบการบริหารงานในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีหลายกรณีส่อว่าไม่โปร่งใส โดยล่าสุดตนได้รับข้อมูลเรื่องโครงการจัดซื้อเปียโน และอุปกรณ์ดนตรีให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ด้วยงบประมาณจำนวนมากรวมแล้วกว่า 1.3 พันล้านบาท แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับงบที่ทุ่มเทไป อีกทั้งยังอาจส่อไปในการล็อกสเปกการจัดซื้ออุปกรณ์ดนตรีอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เริ่มในยุคที่ นายพุฒิพงษ์ ปุณณกัณต์ เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. มีการอนุมัติงบปี 2551 รวม 14 ล้านบาทเศษ เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการพัฒนาทักษะทางด้านดนตรีในโรงเรียนสังกัด กทม. เบื้องต้น 10 โรงเรียน ต่อมาปี 2552 นางทยา ทีปสุวรรณ เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ดูแลการศึกษาได้ทำเรื่องของบใช้ในโครงการเดียวกัน โดยขยายโรงเรียนในสังกัด กทม. อีก 90 แห่ง รวมเป็นเงิน 250 ล้านบาท จากนั้นได้ขยายโรงเรียนเพิ่มอีก 150 แห่ง ขอเพิ่มวงเงินงบอีก 480 ล้านบาท และขอขยายโครงการในปีงบ 55 - 57 เป็นงบผูกพัน 3 ปี รวมในยุคนางทยาได้ขยายโครงการดังกล่าวในโรงเรียนสังกัดเป็น 250 แห่ง ใช้งบถึง 730 ล้านบาท และในยุคที่ 3 ที่ นางผุสดี ตามไท มาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ดูแลการศึกษา ก็ได้ทำเรื่องของบปี 2558 เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ดนตรีเพิ่มให้กับโรงเรียนในสังกัด กทม. ที่เหลืออีก 187 แห่ง รวมกับอีก10 โรงเรียนที่เคยทำเป็นโครงการนำร่อง รวมเป็น 197 โรงเรียน โดยของบฯ รวม 567 ล้านบาท
“ที่น่าสังเกตคือ การพัฒนาศักยภาพทางดนตรีในโรงเรียน เบื้องต้นสามารถให้เด็กเรียนรู้การอ่านอักษรโน้ต และเล่นคีย์บอร์ดธรรมดา หรือเป่าเมาท์ออแกนที่มีราคาถูกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ผลาญงบจากภาษีประชาชนมาซื้อเปียโน ประเภทอัปไลต์ ราคาหลังละ 165,000 บาท ทุกโรงเรียน ถามว่า แล้วเด็กจะได้เรียนกันกี่คน กี่ชั้นเรียน ได้เรียนกันทุกคนหรือไม่ เพราะต้องมีครูที่มีความรู้ทางด้านดนตรีนี้โดยเฉพาะ และยังมีการซื้อกีตาร์คลาสสิก และอุปกรณ์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก ปัจจุบันเครื่องดนตรีหลายรายการถูกกองสุมไม่มีการใช้ประโยชน์ ที่สำคัญ ยังต้องจ่ายลิขสิทธิ์เพื่อซื้อคู่มือดนตรีจากบริษัทอีกด้วย ทั้งที่ไม่ควรต้องจ่ายเนื่องจากซื้ออุปกรณ์ดนตรีมาแล้ว ถามว่า คุ้มค่าแค่ไหน อย่างไร ซึ่งผมจะเปิดเผยรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 7 ธ.ค. นี้ เพราะอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพราะทราบมาว่าขณะนี้ที่ปรึกษารองผู้ว่าฯ ได้โทรศัพท์สั่งห้ามทุกโรงเรียนให้ข้อมูลลักษณะเชิงข่มขู่ว่า หากให้ข้อมูลไปก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” นายวิลาศ กล่าว