ศูนย์ข่าวศรีราชา - ไทย ร่วมกลุ่ม 10 ประเทศ AEC เตรียมพร้อมประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมโรคติดเชื้อของอาเซียน
ที่รอยัลคลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป พัทยา จ.ชลบุรี สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การอนามัย และกลุ่มประเทศ AEC จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการป้องกันโรคด้วยวัคซีน ใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน โดยมี ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการจัดงาน พร้อมด้วย ดร.ฌอง มารี โอควอ บาเล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจากองค์การอนามัยโลก นายสมาคมกุมารเวชศาสตร์ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และบุคลากรในแวดวงโรคติดเชื้อระดับโลก และนานาชาติ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการป้องกันโรคด้วยวัคซีน ใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน หรือโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติของประเทศในอาเซียน ด้วยทางสมาคมฯ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อในเด็กเป็นปัญหาสำคัญของอาเซียนจึงได้มีการจัดประชุมร่วมกับ 10 ประเทศในอาเซียน ซึ่งโรคติดเชื้อต่างๆ เชื่อมโยงกันได้ทั้งในระดับภูมิภาค และในระดับโลก อย่างเช่น ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ๆ โรคไข้หวัดนก อีโบลา
ทั้งนี้ เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ทั้งเรื่องของไวรัสที่มีหลายสายพันธุ์ กลุ่มประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเดินทางของคนทั่วโลกล้วนมีผลต่อภูมิคุ้มกันโรคอาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายขึ้น จำเป็นที่จะต้องเน้นการควบคุม และป้องกันที่ได้ประสิทธิภาพ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแพทย์ และนักวิชาการด้านนี้จึงเป็นความสำคัญยิ่ง
สำหรับภาพรวมของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในประเทศไทย ขณะนี้นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ทำได้ดีมาก วัคซีนพื้นฐานที่ฉีดทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ จำนวน 10 โรค ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการฉีดครอบคลุมมาก โดยเฉพาะเด็ก ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค โรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี โปลิโอ ไข้สมองอักเสบ หัด หัดเยอรมัน และคางทูม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเปลี่ยนจากชนิดกินเป็นชนิดฉีด
ส่วนวัคซีนใหม่ๆ ที่กำลังพิจารณาอยู่ เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงโรต้าในบางพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งถ้าทดสอบได้ผลคุ้มค่า ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะให้ฉีดครอบคลุมทั้งประเทศ แต่สิ่งที่ยังทำไม่ได้ทั้งประเทศไทย และในระดับโลกยังล้มเหลว คือ การให้วัคซีนในประชาชนวัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัยเด็ก
โดยขณะนี้สังคมไทยยังขาดความตะหนักว่า วัคซีนเป็นเรื่องของวัยผู้ใหญ่ด้วย ทำให้การรับวัคซีนไม่ครบคอร์ส โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนป้องกันโรคใหม่ๆ อาจจะเข้าถึงได้ในกลุ่มผู้มีฐานะดี
ทั้งนี้ เชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้จะทำให้ผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตระหนักว่า การฉีดวัคซีนในคนทุกวัยมีความสำคัญ และควรทำให้ครอบคลุมมากที่สุด