xs
xsm
sm
md
lg

กะเหรี่ยงอาวุโสชี้เปรี้ยง “มาเฟียครองพม่า-ปชต.จอมปลอม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ขณะที่ “พม่า หรือเมียนมาร์” กำลังเดินหน้าเจรจาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ และเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นราวเดือนพฤศจิกายน 58

หลังจากผ่านการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 53 ที่ผ่านมา จนได้รัฐบาลภายใต้การนำของ “ประธานาธิบดีเต็งเส่ง” อดีตผู้นำทางทหาร เป็นผู้สืบทอดอำนาจกองทัพ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตย ตามแรงกดดันของสังคมโลกตะวันตกมาแล้ว

แต่ในมุมมองของผู้นำชนกลุ่มน้อยในพม่าบางส่วน กลับมองว่าการเปลี่ยนแปลงในพม่าล้วนแต่เป็นสิ่ง “จอมปลอม” ทั้งสิ้น
...
เดวิด ที สุชาติ ที่ปรึกษาอาวุโส กะเหรี่ยง KNU หนึ่งในกรรมการของฝ่ายกะเหรี่ยง KNU ที่มีส่วนร่วมในการประชุมหาแนวทางปรองดองในพม่า เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า การวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าต้องเข้าใจความเป็นมา ซึ่งปัจจุบันพม่ามีกลุ่มติดอาวุธอยู่ประมาณ 16 กลุ่ม ในจำนวนนี้มี 8 กลุ่มใหญ่ที่มีกองกำลังพร้อมรบ และในกลุ่มใหญ่ๆ ยังแตกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เช่น กะเหรี่ยง มี 7 กลุ่ม, ฉานหรือไทยใหญ่มี 8 กลุ่มย่อย, คะฉิ่นมี 9 กลุ่ม และยะไข่มี 2 กลุ่ม เป็นต้น

ส่วนพม่าเป็นเพียงชาติพันธุ์หนึ่ง มีพอๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แต่ด้วยแนวคิดทางทหารที่จะรวบอำนาจไว้ทั้งหมด จึงใช้วิธีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติพันธุ์อื่นๆ ให้ลดลง โดยในปี ค.ศ. 1790 ในสมัยอะลองพะยา หรือ อองเซอะยะ ซึ่งเป็นสมัยที่มอญยังมีกษัตริย์อยู่ มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มอญเกิดขึ้น โดยหลอกให้กษัตริย์มอญวางอาวุธ จากนั้นทำการสังหารโหด แม้กระทั่งพระสงฆ์ชาวมอญกว่า 3,000 รูปก็ถูกนิมนต์มาสังหารทั้งหมด ในที่สุดคนมอญส่วนหนึ่งต้องอพยพไปอยู่ใน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จนถึงปัจจุบัน จากจำนวนประชากรที่เคยมีมากพอๆ กับพม่า ปัจจุบันมีคนมอญในพม่าเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น

กระทั่งในช่วงล่าอาณานิคม อังกฤษเข้าปกครองพม่า ผนวกรวมพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ไว้ทั้งหมด การทำรายงานจำนวนประชากรของพม่าได้รวมเอาชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาพุทธไปเป็นประชากรของตนเอง ทำให้เห็นยอดประชากรมากกว่าชนชาติอื่นๆ

ต่อมาปี ค.ศ. 1947 กลุ่มชาติพันธุ์และพม่าได้ทำสัญญาปางหลวง (ปางโหลง) ด้วยกัน เพื่อหาทางขับไล่ประเทศตะวันตก โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า “หลังการผลักดันชาวตะวันตกออกไปได้ ชาติพันธุ์ต่างๆ จะสามารถปกครองตนเองได้” กระทั่งปี ค.ศ. 1948 ทำการผลักดันสำเร็จ พม่าได้เอกราชจากอังกฤษ ได้เป็นอิสรภาพพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคมของสหราชอาณาจักร

แต่ข้อตกลงที่เคยมีร่วมกันกลับไม่ได้รับการปฏิบัติตาม ต้องการรวบอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นนายพล อองซาน หรืออูอองซาน พ่อของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลพม่า จึงถูกลอบสังหาร สัญญาปางหลวงจึงไม่สามารถขยับได้ ชาวกะเหรี่ยงต้องการปกครองอิรวดีพื้นที่ของกะเหรี่ยงเอง แต่ก็ต้องล้มเหลว เมื่อพม่าไม่ทำตามสัญญา ทำให้กะเหรี่ยงต้องจับอาวุธสู้กับพม่า และเกิดการสู้รบครั้งยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 1949 ปัจจุบันผ่านมาแล้วถึง 66 ปี

เดวิดกล่าวว่า ช่วง 66 ปีที่ผ่านมาพม่าได้หาทางปรองดอง โดยจัดประชุมแกนนำทางทหาร และฝ่ายการเมืองของชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าถึง 6 ครั้ง และล่าสุดครั้งที่ 7 จัดขึ้นในปีนี้ เนื้อหาสำคัญของการประชุมคือ การให้กลุ่มชาติพันธุ์วางอาวุธ

แต่ในประวัติของพม่า ไม่เคยจริงใจกับกลุ่มใดเลย ทำให้กองกำลังติดอาวุธต่างๆ ในพม่าไม่ทำตาม พม่าพยายามให้กะเหรี่ยงหยุดยิง แต่ก็ไปพูดกับชนชาติอื่น เช่น ฉาน, คะฉิ่น รวมทั้งเชนง์ ว่า กะเหรี่ยงไม่มีรัฐเป็นของตัวเอง พยายามสู้รบกับพม่าเพราะต้องการให้อังกฤษมาปกครองอีกรอบ ไปอ้างกับชาติพันธุ์อื่นๆ ว่ากะเหรี่ยงต้องการสงคราม

ในสมัยนั้นตรงกับสงครามเย็น และการต่อสู้ของฝ่ายสัมพันธมิตรกับทหารญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1949 ก่อนที่จะมาสู้รบกับกะเหรี่ยง พม่าต้องเผชิญกับการต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์พม่ามาก่อน

ขณะนั้นทางยุโรปและอเมริกากลัวว่าพม่าจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย จึงติดต่อกับนายพล เนวิน ผู้นำทางทหารในขณะนั้น เพื่อสนับสนุนงบประมาณและอาวุธในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์พม่า แต่เมื่อนายพล เนวิน นำข้อเสนอของตะวันตกไปบอก “อูนุ” ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อูนุไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอ ทำให้นายพล เนวิน ทำการปฏิวัติยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ จากนั้นได้เดินหน้าร่วมมือกับชาติตะวันตกปราบคอมมิวนิสต์ และใช้เงื่อนไขงบประมาณกับอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ไปพร้อมๆ กัน โดยมีเป้าหมายปกครองเบ็ดเสร็จ

แนวทางของนายพล เนวินทำให้เกิดปัญหาไปทั่วประเทศ เพียง 6 ปี (ค.ศ. 1982-1988) ผู้คนเริ่มไม่พอใจและออกมาประท้วง ในที่สุดนักศึกษาพม่าก็ออกมาร่วมประท้วงการทำงานของนายพล เนวิน อย่างหนักในย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ในที่สุดทหารได้ปราบพวกนักศึกษาทำให้ต้องลี้ภัยการเมืองจำนวนมาก

การประท้วงหนักขึ้น “อองซาน ซูจี” เข้ามามีบทบาทในการประท้วงรัฐบาลพม่าอย่างต่อเนื่อง ต่อมานายพล เนวิน สยบความวุ่นวายด้วยการปลดตัวเอง ให้ “ซานหม่อง” ขึ้นทำหน้าที่แทน แต่เมื่อถึงการบริหาร “ซานหม่อง” เริ่มไม่ฟังเสียง ทำให้เนวินหาทางปลดออกจากตำแหน่งแล้วตั้ง “ตานส่วย” ขึ้นมาทำหน้าที่แทนภายใต้การควบคุมของตนเอง

เดวิดเล่าว่า ปี ค.ศ. 1989 สังคมโลกเริ่มกดดันให้พม่าปรับการปกครองเป็นประชาธิปไตย จนมีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ปรากฏว่า อองซาน ซูจี ได้รับเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1990 แต่ทหารไม่ปล่อยอำนาจให้ และทำการคุมขัง “อองซาน ซูจี” ในเวลาต่อมา ซึ่งกลายเป็นวิกฤตของพม่าในการเดินไปบนเส้นทางประชาธิปไตย ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมในการเลือกตั้งได้ ในขณะที่กลุ่มชาติตะวันตกเตรียมยกเลิกการช่วยเหลือทางทหาร ทำให้ “ตานส่วย” หันไปหาสาธารณรัฐประชาชนจีนแทน

ซึ่งจีนได้ผลักดันให้พม่าไปร่วมกับกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่เลื่อมใสในอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนแทน พม่าที่เคยสู้รบกับคอมมิวนิสต์มาอย่างยาวนานต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยพรรคคอมมิวนิสต์ในพม่าอย่างรวดเร็วเพื่อเอาใจจีน

ปี ค.ศ. 1994 คะฉิ่น และชนกลุ่มน้อยที่มีฐานที่มั่นใกล้จีน หยุดการสู้รบ แต่กะเหรี่ยงยังไม่หยุด และตั้งแต่ปี 1994-2011 เดิมขุนส่า เป็นกองกำลังหนึ่งที่สนับสนุนพม่า ทำยาเสพติดจำหน่ายในประเทศไทย เป็นการหาเงินให้กับรัฐบาลพม่าของนายพล เนวิน นั่นเอง

ปี 2010 อดีตนายพล เต็งเส่ง ได้จัดการประชุมกลุ่มชนชาติต่างๆ ในพม่าเพื่อเปิดโอกาสให้พัฒนากองกำลังของตนเอง เป็นกองกำลังป้องกันชายแดนของพม่า แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ตกลง ทำให้พม่าต้องกลับมาสู้รบกับคะฉิ่นอีกครั้ง รวมทั้งมีการสู้รบกับว้า โกก้าง อีก้อ และฉาน ด้วย

ในส่วนของกะเหรี่ยง พม่าพยายามสร้างความแตกแยก โดยบอกว่ากะเหรี่ยงมี 2 กลุ่มคือ กะเหรี่ยงพุทธ กับกะเหรี่ยงคริสต์ กะเหรี่ยงพุทธ หรือ DKBA มีผู้นำซื่อ หม่องชิตู่ และนะคามวย (นะคะมวย) ส่วนกะเหรี่ยง KNU คือกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ที่ไม่แบ่งแยกศาสนา เพียงแต่มีผู้นำที่มาจากศาสนาคริสต์ที่มาจากการเลือกตั้ง และคุณวุฒิที่มีการศึกษาสูงกว่า ปัจจุบันกะเหรี่ยงพุทธมีการเปลี่ยนชื่อไม่เอาศาสนามาเกี่ยวข้อง และทำความเข้าใจกันไม่สู้รบกันเองอีกต่อไป พม่าพยายามหยุดยิงกับกะเหรี่ยง ในขณะเดียวกันยังสู้รบอยู่ทางภาคเหนืออย่างรุนแรง ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจที่พม่าสู้กับกลุ่มที่จีนสนับสนุนอยู่

“นี่เป็นประวัติความเป็นมาพอสังเขปที่มองเห็นว่าพม่าไม่จริงใจกับกลุ่มชาติพันธุ์ใดเลย จนสะท้อนให้เห็นว่าแผนการปรองดองในชาติคงสำเร็จได้ยากจากผู้บริหารประเทศกลุ่มนี้”

เดวิดยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่พม่าใช้ และจะเข้าสู่การเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ในมุมมองของ KNU ว่า รัฐธรรมนูญที่พม่าใช้อยู่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดไม่ยอมรับเพราะเต็มไปด้วยเผด็จการ และมากกว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ไม่ต่างอะไรจากมาเฟียทางการเมือง เลวยิ่งกว่ายุคนาซีในเยอรมัน การเลือกตั้งใครมีเงินมากมีอำนาจในมือก็จะชนะ เพราะถ้าฝ่ายอื่นชนะพม่าก็จะล้มกระดาน มีการชี้ให้ประชาชนเลือกใคร

“ปัจจุบันรัฐบาลของพม่าไม่สามารถตอบคำถามให้กับโลกเสรีได้ และไม่สามารถให้คำตอบกับประเทศคอมมิวนิสต์จีนได้ ในการที่จะขอการสนับสนุนทุนและอาวุธเพื่อมาจัดการคนในประเทศด้วยกัน นานาชาติเริ่มไม่ไว้วางใจพม่าแล้ว จะเดินไปทางเส้นทางประชาธิปไตยก็ไม่สามารถเข้าสู่การเลือกตั้งได้อย่างชอบธรรม จะไปทางโลกคอมมิวนิสต์ก็ไปได้ยาก เพราะส่งกำลังทหารเข้าโจมตีชนกลุ่มน้อยที่จีนสนับสนุนอยู่”

เดวิดมองว่า อย่างไรก็ตาม พม่ายังมีทางออกที่ดี เพราะชาวพม่าไม่ใช่เป็นผู้เลวร้าย หากแต่ผู้นำที่เป็นชาวพม่าชุดเดิมๆ เป็นปัญหามาก รัฐธรรมนูญเป็นปัญหามาก ซึ่งถ้าจริงใจในการแก้ปัญหาร่วมกันก็จะส่งผลดีในอนาคต แต่ต้องยอมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาเล่นการเมือง และต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จึงจะเข้าสู่การเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายพร้อมใจกันร่วมลงสนามเลือกตั้ง

“ที่ผ่านมาต่างชาติพยายามกดดันพม่าให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่ดูแล้วไม่มีชาติใดสนใจในกระบวนการรายละเอียดที่พม่าทำกับประชาชนอย่างไม่เท่าเที่ยม เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ซึ่งก็พอวิเคราะห์ได้ว่า ต่างชาติกดดันให้พม่าเป็นประชาธิปไตย เพราะต้องการเข้ามาเอาทรัพยากร ไม่ได้จริงใจแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพม่าอย่างแท้จริง”

เช่น การพัฒนาเหมืองแร่ ขณะนี้พม่ากำลังไล่ยึดที่ดินของชาวบ้านเพื่อทำเหมืองทองแดง นำเงินไปชดใช้ให้กับประเทศจีนที่พม่ากู้เงินมาสร้างเมืองเนย์ปิดอว์ ส่วนโครงการทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประชาคมอาเซียน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน, ท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย, ยังมีการลงทุนในเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ต นักลงทุนจากชาติต่างๆ ทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เตรียมเข้ามาลงทุนกันจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีทุนไทยกำลังเข้าไปทำกิจการห้างสรรพสินค้า ชอปปิ้งมอลล์ ธุรกิจโรงแรม ท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ ด้วย

“แต่สิ่งเหล่านี้คงเป็นไปได้ยาก ถ้าพม่ายังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง”



กำลังโหลดความคิดเห็น