xs
xsm
sm
md
lg

เต็งเส่ง-UN ยกย่องร่างข้อตกลงสันติภาพเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีเต็งเส่ง (นั่งคนที่ 5 จากซ้าย) ที่เข้าร่วมในพิธีลงนามร่างข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฎชาติพันธุ์ ปรบมือขณะออง มี้น (ซ้าย) รองประธานคณะกรรมการทำงานเพื่อสันติภาพสหภาพ (UPWC) สัมผัสมือกับนาย หัน ธา (ขวา) หัวหน้าทีมประสานงานหยุดยิงทั่วประเทศ (NCCT) หลังลงนามร่างข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศที่ศูนย์สันติภาพพม่า ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 31 มี.ค.--Reuters/Stringer.</font></b>

เอเอฟพี - ประธานาธิบดีพม่า แสดงความชื่นชมยินดีต่อร่างข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ และครั้งประวัติศาสตร์ ในความพยายามของพม่าที่จะยุติสงครามกลางเมืองซึ่งยืดเยื้อยาวนานหลายทศวรรษ

เต็ง เส่ง ผู้นำนักปฏิรูปของพม่า ที่ยกให้ข้อตกลงหยุดยิงเป็นหัวใจสำคัญของความพยายามที่จะสลัดสิ่งที่ตกทอดมาจากสมัยการปกครองของทหาร ระบุว่า การยุติการต่อสู้นั้นอยู่เพียงแค่เอื้อม แม้เหตุความไม่สงบยังคงมีอยู่ในพื้นที่ชายแดนทางภาคเหนือก็ตาม

“ประชาชนต้องการสันติสุข พวกเขาปรารถนาสันติภาพ และคาดหวังที่จะได้รับความสงบสุข” ประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวต่อผู้แทนกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ 16 กลุ่มใหญ่ ในพิธีลงนามร่างข้อตกลงในนครย่างกุ้ง เมื่อวันอังคาร (31) และระบุว่า ข้อตกลงฉบับเต็มจะลงนามกันในไม่กี่เดือนข้างหน้า

ผู้แทนจากกลุ่มกบฏ กองทัพ และรัฐบาล ต่างเห็นชอบในข้อตกลงเบื้องต้นที่กำหนดกรอบการทำงานเพื่อการหยุดยิงทั่วประเทศ แต่ข้อตกลงฉบับเต็มจะลงนามอย่างเป็นทางการหลังปรึกษาหารือเพิ่มเติม และการประชุมของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งยังไม่ระบุวันเวลาที่แน่ชัด และผู้เจรจาเผยว่า บางส่วนของข้อตกลงบางข้อถูกตัดออกเพื่อให้ร่างข้อตกลงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

ด้านสหประชาชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์การเจรจาสันติภาพที่ยาวนานหลายเดือนระบุว่า ข้อตกลงเบื้องต้นนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับพม่าที่ติดขัดอยู่กับสงครามกลางเมืองยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

“สำหรับรัฐบาลพม่า และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 16 กลุ่ม การบรรลุข้อตกลงหยุดยิงหลังติดอยู่ในความขัดแย้งมานานมากกว่า 60 ปี ถือเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์” สหประชาชาติ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง แต่ชี้ว่า พม่ายังคงมีประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่อีกมาก

ขณะที่สถานทูตสหรัฐฯ ในนครย่างกุ้ง ระบุในคำแถลงว่า ข้อตกลงหยุดยิงฉบับเต็มจะเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาตร์ที่มุ่งบรรลุสันติภาพ และความปรองดองของชาติ

ความไม่สงบเริ่มปะทุขึ้นในพม่าตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี 2491 เมื่อบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างเรียกร้องการปกครองตนเอง เมื่อรัฐบาลกึ่งพลเรือนของเต็งเส่ง ขึ้นครองอำนาจในปี 2554 หลังอยู่ภายใต้การปกครองของทหารนาน 49 ปี ได้ดำเนินการผลักดันการหยุดยิงต่อกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มของประเทศ ก่อนจะเริ่มต้นการรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสำคัญที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน พ.ย.

อย่างไรก็ตาม การสู้รบรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในรัฐกะฉิ่น และรัฐชานทางภาคเหนือ

“การต่อสู้เกิดขึ้นในหลายเหตุผล แต่ทั้งสองฝ่ายจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกัน” มี้น โซ รองผู้บัญชาการกองทัพทหารพม่า กล่าว

ด้านผู้เจรจากลุ่มชาติพันธุ์เตือนว่า หากปราศจากข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการทางทหารของทั้งฝ่ายกองทัพ และกลุ่มกบฏ ข้อตกลงหยุดยิงอาจมีผลเพียงชั่วคราว

“หากการต่อสู้ยังดำเนินต่อไป ข้อตกลงหยุดยิงแห่งชาติก็จะไม่มีความหมาย” ผู้เจรจาฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าว

การเจรจาที่ยืดเยื้อติดขัดอยู่ในหลายประเด็น รวมทั้งความไม่ไว้วางใจต่อกองทัพที่ยังคงมีบทบาทอำนาจ และแนวคิดเกี่ยวกับกองทัพสหพันธรัฐ

เหตุความไม่สงบครั้งใหม่ในเขตโกกัง ของรัฐชาน ปะทุขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. และยังสั่นคลอนความสัมพันธ์กับจีน เมื่อผู้คนจำนวนหลายหมื่นข้ามไปยังฝั่งพรมแดนจีนเพื่อหลบหนีการต่อสู้

พม่าบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเฉพาะรายต่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธ์แล้ว 14 กลุ่ม จากทั้งหมด 16 กลุ่ม เหลือเพียงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตาอาง และกองทัพกะฉิ่นอิสระ ส่วนกลุ่มกบฏโกกังที่กลับเข้ามาในพม่าในเดือน ก.พ. หลังถูกกองทัพขับไล่ในปี 2552 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการหารือสันติภาพครั้งนี้ แต่ผู้เจรจากลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กำลังผลักดันให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหารือในอนาคต.
กำลังโหลดความคิดเห็น