เอเอฟพี - ผู้บัญชาการกองทัพทหารพม่า เผยว่า สันติภาพในพม่าอยู่ในมือของกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ ในระหว่างให้สัมภาษณ์ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ (19) ขณะที่ความไม่สงบระลอกใหม่ปะทุขึ้นในรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศ ที่สั่นคลอนความพยายามเจรจาหยุดยิง
พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าวว่า สันติภาพเป็นเพียงหนทางเดียว หากประเทศต้องการก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และการพัฒนา ในการให้สัมภาษณ์ต่อชาแนลนิวส์เอเชีย ของสิงคโปร์
“พวกเขาต้องการสันติภาพจริงหรือเปล่า? หากพวกเขาต้องการสันติภาพ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะไม่ได้มัน” พล.อ.มิน ออง หล่าย กล่าว อ้างถึงกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากในประเทศที่ต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองมานานหลายทศวรรษ
“เราไม่ควรเห็นขัดแย้งกัน ความเห็นต่างเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศ” ผู้นำกองทัพทหารพม่า กล่าว
ความตึงเครียดในรัฐกะฉิ่น ที่ข้อตกลงหยุดยิง 17 ปี ระหว่างกลุ่มกบฏ และรัฐบาลสิ้นสุดลงในปี 2554 ได้บั่นทอนความพยายามที่จะเรียกร้องการยุติสงครามกลางเมือง กับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในพื้นที่พรมแดนของประเทศที่สร้างความเสียหายมานานกว่าครึ่งศตวรรษ
การบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับกลุ่มกบฏ 16 กลุ่ม ถูกมองว่าเป็นเสาหลักการปฏิรูปของรัฐบาลกึ่งพลเรือนของพม่า ที่เข้าแทนที่การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554
แต่ขณะที่รัฐบาลหวังว่า การบรรลุข้อตกลงจะเสร็จสิ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่กระบวนการสันติภาพกลับหยุดชะงักจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่มีมาแต่เก่าก่อน และความขัดแย้งในรัฐกะฉิ่น
นักเคลื่อนไหวระบุว่า ประชาชนหลายร้อยคนติดอยู่ในพื้นที่ปะทะตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา รอบเมืองผากัน พื้นที่ที่อุดมด้วยแร่หยกใกล้พรมแดนจีน
“มีหลายเหตุผลที่เชื่อได้ว่า องค์ประกอบภายในของ KIA ไม่ต้องการสันติภาพ จงใจขัดขวางกระบวนการข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ” เย ตุ๊ต รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารพม่า แสดงความคิดเห็นลงในเพจเฟซบุ๊ก
ความไม่สงบที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 15 ม.ค. สมาชิก KIA ได้ควบคุมตัวรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ประจำรัฐกะฉิ่น เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนปล่อยตัวในภายหลัง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย เชื่อว่ายังคงถูกจับตัวอยู่
หนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ รายงานเมื่อวันจันทร์ (19) ว่า ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีรายงานเหตุโจมตีด้วยระเบิดหลายระลอกต่อกองกำลังรักษาความปลอดภัย และบริษัทเหมือง ที่แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
นักเคลื่อนไหวท้องถิ่น กล่าวว่า กลุ่มประชาสังคมและศาสนาได้ส่งรถ 200 คัน เข้าขนย้ายพลเรือนออกจากพื้นที่ปะทะ แต่ไม่สามารถเข้าถึงหมู่บ้านได้เพราะถูกกองทัพขัดขวาง
ซา จี ผู้อำนวยการกลุ่มเครือข่ายพัฒนากะฉิ่น กล่าวว่า โรงเรียนปิดการเรียนการสอน และความกลัวได้แพร่สะพัดไปทั่วพื้นที่
“ชาวบ้านต้องการออกไปจากที่นี่ เพียงแค่เห็นทหารในเครื่องแบบพวกเขาก็รู้สึกหวาดกลัว ไม่มีความปลอดภัยสำหรับผู้หญิง” ซา จี อ้างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองกำลังทหารพม่า พร้อมระบุว่า การต่อสู้ในพื้นที่น่าจะเชื่อมโยงโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเหมือง ที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ควบคุมทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ตามพื้นที่แนวพรมแดน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความไม่พอใจ
สหประชาชาติที่พยายามจะเข้าถึงผู้คนที่ได้รับผลกระทบระบุว่า ประชาชนราว 98,000 คน ต้องออกจากที่อยู่อาศัยเนื่องจากการต่อสู้ในรัฐกะฉิ่น และรัฐชาน.