xs
xsm
sm
md
lg

เคเอ็นยูประกาศชัด “น้ำสาละวินคือชีวิต” ย้ำพม่าดัน “เขื่อนฮัตจี” ก่อนมีปัญหาแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - รอง ผบ.สส.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ (KNU) ประกาศชัด “แม่น้ำสาละวิน คือชีวิต” ระบุวันนี้คนกะเหรี่ยงยังไม่รู้ข้อมูลใดๆ ไม่รู้อนาคต ทั้งที่ทำกินกับน้ำสาละวินมาหลายชั่วคน ย้ำก่อนสร้างเขื่อนฮัตจี และโครงการอื่นๆ จะเกิดขึ้น จะต้องเกิดสันติภาพในพม่าก่อนการลงทุน หากดันทุรังเดินหน้ามีปัญหาแน่

วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า หลังการประชุมนานาชาติ สาละวินศึกษา ครั้งที่ 1 (First International Conference on Salween-Thanlwin-Nu Studies “State of Knowledge : Environmental Change, Livelihoods and Development”) เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ มีสื่อมวลชนไทย และสื่อมวลชนจากตะวันตก สำนักข่าวใหญ่ๆ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ดูแม่น้ำสาละวิน เขตรอยต่อ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเก็บข้อมูลชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ คณะสื่อมวลชนและนักวิชาการจากจีน พม่า และไทย ก็ได้ร่วมรับฟังข้อกังวลจากชาวบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ด้วย

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสัมภาษณ์ พล.อ.บอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือ KNU ณ ฐานที่มั่นแห่งหนึ่งบริเวณชายแดนไทย-พม่า เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ลุ่มแม่น้ำสาละวิน

พล.อ.บอ จ่อ แฮ กล่าวว่า แม่น้ำสาละวินคือวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ชองชาวบ้านสืบทอดมายาวนานแสนนาน หากมีการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยราว 47 กิโลเมตร หรือเขื่อนอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น จะต้องมีการสัมภาษณ์ลงพื้นที่สอบถามประชาชนถึงผลดีและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อน

รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด KNU ยืนยันว่า มีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากที่หลบหนีสงครามจากฝั่งพม่ามาอยู่ที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน หวั่นกลัวว่าหากมีการสร้างเขื่อนฮัตจี และเขื่อนอื่นๆ ที่จะตามมาต้องสูญเสียที่ทำกินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ ก็จะไม่ได้รับการชดเชยหรือจัดการที่เพียงพอ และไม่มีข้อมูลตัวเลขใดๆ เลยที่บ่งบอกชัดเจนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้านจะมากน้อยแค่ไหน แล้วจะแก้ไขเยียวยาบรรเทาผลกระทบได้อย่างไร

ตนยืนยันว่า ชาวบ้านไม่ได้คัดค้าน หรือสนับสนุนเขื่อนฮัตจี แต่ต้องการรู้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะหากคนในพื้นที่จะต้องเดือดร้อนจากโครงการจริงๆ ก็ต้องการทราบข้อมูลที่ชัดเจนก่อน แต่ราษฎรชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู๋ลุ่มน้ำสาละวินต่างบอกตลอดว่า ชาวบ้านไม่อยากเดือดร้อน ทุกคนเคยอยู่อาศัยมากับแม่น้ำสาละวินมานาน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ก็ต้องการสืบทอดต่อให้ลูกหลานต่อไป เพราะถือว่าวิถีชีวิตคือสิ่งที่สำคัญ

“การที่มีไฟฟ้า โทรศัพท์ หรือ Wi-Fi การพัฒนาต่างๆ ไม่สำคัญเท่าความสงบสุขของชุมชน ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่บนแม่น้ำสาละวิน และสาละวินคือชีวิต สำหรับชาวบ้านแล้วการพัฒนาคือชาวบ้านร่วมกันดูแลชุมชน สนใจเรื่องของหมู่บ้าน”

ส่วนของชาวบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ปัญหาข้ามพรมแดนที่ชาวบ้านกังวล คือผลกระทบด้านสุขภาพ หากแม่น้ำสาละวินถูกเขื่อนกั้น พี่น้องฝั่งพม่าต้องอพยพเข้ามาฝั่งไทยมากขึ้น ปัญหาโรคติดต่อต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้น เช่น มาลาเรีย มีอยู่มากอยู่แล้วในพื้นที่ชายแดน แต่เรากลัวว่าเขื่อนฮัตจีจะทำให้เกิดมาลาเรียมากขึ้นอีก ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกว่าเดิม

พล.อ.บอ จ่อ แฮ ยังบอกอีกว่า การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในพม่านั้น ทางการกะเหรี่ยงไม่ได้ปฏิเสธทุกโครงการ แต่โดยส่วนตัวมองว่าหากรัฐบาลพม่าใช้อำนาจเจรจาระหว่างรัฐกับรัฐ โดยบริษัทและหน่วยงานที่ร่วมลงทุนจากฝ่ายไทยดำเนินการสร้างเขื่อน หรือโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ระหว่างที่การเจรจาหยุดยิงเพื่อสันติภาพยังหาทางออกไม่ได้ปัญหาจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เพราะทันทีที่พม่าเปิดการลงทุนข้ามชาติ ผลประโยชน์ด้านต่างๆ ที่ตามมาจากการลงทุนย่อมเกิดขึ้น นักการเมืองล้วนต้องมีส่วนได้ส่วนเสีย คอร์รัปชันก็จะเกิดขึ้นตามมาอีกหลายเรื่อง จึงอยากให้ชะลอโครงการฯ ไว้ก่อน การพัฒนาโครงการแต่ละด้านจะทำอย่างผิวเผินไม่ได้ ต้องมีขั้นตอนการศึกษาที่เป็นระบบ พม่าไม่ใช่ประเทศเล็กๆ และยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มชนเผ่าต่างๆ มากมาย อีกทั้งมีกองกำลังต่างๆ กระจายตัวอยู่

“การตัดสินใจเพื่อรับการลงทุนจากต่างชาติจะตัดสินโดยอำนาจรัฐบาลพม่าฝ่ายเดียวไม่ได้ ยกตัวอย่างแค่ในรัฐกะเหรี่ยงเอง หากจะยอมรับการลงทุน หรือเปิดรับโครงการใหญ่จากฝ่ายใดก็ตาม เราทำได้ไม่ง่าย เพราะแต่ละกองพลมีความต้องการแตกต่างกัน กลุ่มเห็นด้วย หรือเห็นต่าง ก็ย่อมมีเหตุผลที่ต่างกันออกไป รัฐบาลพม่าจะเร่งรัดไม่ได้”

ทั้งนี้ รัฐบาลพม่ามีการตกลงเรื่องโครงการเขื่อนฮัตจีฉบับใหม่กับบริษัทลงทุนเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยทหารพม่าพยายามใช้กองกำลังลำเลียงเสบียง และลำเลียงอาวุธสงคราม ตลอดจนยิงปืนใหญ่เข้ามาเพื่อเปิดทางเข้าหัวงานเขื่อนฮัตจี แต่ยังไม่สำเร็จ กองกำลังของ KNU พยายามควบคุมพื้นที่อย่างเข้มแข็ง จึงทำให้เหตุการณ์สงบลงไป

ท่าทีการตอบโต้ดังกล่าวสะท้อนว่า KNU ไม่ต้องการให้อำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลพม่าอยู่เหนือประชากรกลุ่มอื่น จึงต้องต่อต้านเต็มที่ แม้จะทราบดีว่าชาวบ้านในพื้นที่ยังหวาดกลัวสงครามครั้งใหม่ก็ตาม ดังนั้น สำหรับนโยบายด้านการลงทุนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประชากรพม่าใช้ร่วมกันนั้น จะตามมาหลังจากการเจรจาหยุดยิงสำเร็จลุล่วงและมีความเป็นธรรม

พล.อ.บอ จ่อ แฮ กล่าวอีกว่า เราอยากให้สันติภาพเกิดขึ้นก่อน จากนั้นขั้นตอนที่ 2 คือการเจรจาเพื่อระบอบการเมืองภายในประเทศ คือมีสภาผู้แทนราษฎรที่รวมตัวกันทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ทหารพม่า และพลเรือนร่วมกัน จึงจะพัฒนาโอกาสสู่การเจรจานโยบายใหญ่ การลงทุน ไม่ใช่ทำสวนทางกันเหมือนที่รัฐบาลพม่ากำลังทำอยู่ตอนนี้

เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปปัญหาใหญ่และปัญหาแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ ประชากรสูญเสียที่ดินทำกิน เพราะพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเคเอ็นยู กับรัฐบาลพม่าก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ประชาชนก็ยังไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ปัญหาต่อมาคือ ประชาชนที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

“ดังนั้นทาง KNU จึงยืนยันว่าต้องชะลอโครงการการสร้างเขื่อนและโครงการลงทุนอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน” พล.อ.บอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด KNU กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น