xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาเชียงรายยื่น ปปง.ทวงจำนำข้าวปี 56 หลังศาลจำคุกเถ้าแก่ท่าข้าว-คืนทั้งข้าวทั้งเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ชาวนาเมืองพ่อขุนฯ ลุกฮือทวงเงินจำนำข้าวปี 56 หลังขนข้าวส่งโรงสีที่อ้างเข้าร่วมโครงการจำนำข้าวรัฐบาลแล้วไม่ได้รับเงิน จนต้องรวมตัวดำเนินคดี ล่าสุดศาลชั้นต้นตัดสินให้เถ้าแก่ท่าข้าวชดใช้เงิน-ข้าว พร้อมจำคุกคนละ 360 ปี ในฐานความผิด 120 กระทง

วันนี้ (6 มี.ค.) นายสิทธิชัย ชัยเนตร พร้อมด้วยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากพื้นที่ อ.เทิง และ อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ประมาณ 100 คน ได้ไปรวมตัวกันที่บริเวณที่ว่าการอำเภอเทิง เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยติดตามทวงคืนเงินจากโครงการรับจำนำข้าวนาปรังฤดูกาลปี 2556

หลังชาวนาทั้ง 2 อำเภอนำข้าวส่งให้ท่าข้าวนิธิผลสหการเกษตรกร แต่กลับไม่ได้รับเงิน จนต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องอย่างต่อเนื่องถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าของท่าข้าว ซึ่งได้มีการตัดสินในชั้นศาลชั้นต้นแล้ว จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเรื่องการนำทรัพย์สินจำเลยในคดีมาเยียวยาเป็นค่าจำนำข้าวดังกล่าวให้ด้วย

ต่อมานายสิทธิผล สุธะนะวุฒิ นักสืบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นำคณะเจ้าหน้าที่เข้ารับเรื่องจากชาวบ้านที่หอประชุมอำเภอฯ

นายสิทธิชัยได้เป็นตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือให้ ปปง.มีเนื้อหาว่า กรณีได้มีผู้แอบอ้างเป็นท่าข้าวสำหรับรับจำนำข้าวนาปรัง แต่กลับไม่มีการมอบเงินให้ชาวบ้านจริง เป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายพีร์นิทัศน์ เขื่อนเชียงสา, นายณัชสัณห์ รัศน์ธนหิรัญ และนางธนัญรัตน์ รัศน์ธนหิรัญ เมื่อเดือน เม.ย. 2556 รวมมูลค่าความเสียหายครั้งนั้น 836,448 กิโลกรัม มูลค่า 9,381,464 บาท มีผู้เสียหาย 120 คนนั้น

ล่าสุดศาลจังหวัดเทิงได้พิพากษาให้จำเลยมีความผิดฐานประกอบการค้าข้าวโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงให้จำคุก 3 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชนให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 120 กระทง หรือจำคุก 360 ปี เมื่อรวมทุกกระทงจึงมีโทษจำคุกทั้งสิ้น 363 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงคงเหลือให้จำคุกเหลือคนละ 181 ปี 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความผิดดังกล่าวมีหลายกระทง แต่ละกระทงมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ศาลจึงให้จำคุกคนละ 20 ปี พร้อมให้คืนข้าวเปลือกและเงินทั้งหมดแก่ผู้เสียหายทั้ง 120 คน ซึ่งผลจากการดำเนินคดีดังกล่าวได้ทำให้ชาวนาต้องการให้ ปปง.ได้ช่วยพิจารณาดำเนินการให้ด้วย

ด้านเจ้าหน้าที่ ปปง.ได้ชี้แจงถึงข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น พร้อมจะนัดประชุมเยียวยาความทุกข์ยากโดยละเอียดอีกครั้งในวันที่ 13 มี.ค.นี้ ทำให้กลุ่มชาวบ้านพอใจและแยกย้ายกันกลับ

สำหรับกรณีโกงเงินค่าจำนำข้าวปี 2556 นอกจากจะเกิดขึ้นใน อ.เทิง และ อ.ขุนตาล ยังมีชาวนาใน อ.แม่ลาว ที่ประสบความเดือดร้อนไม่ได้รับเงินเป็นมูลค่า และจำนวนผู้เสียหายใกล้เคียงกัน โดยชาวนา อ.แม่ลาวได้ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อทั้งท่าข้าวนิธิผลสหการเกษตร และเอกชนใน อ.แม่ลาว รวมทั้งเคลื่อนไหวเรียกร้องถึงขั้นเดินทางไปยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ต่อมาชาวนากลุ่มนี้ได้รับการเยียวยาจากเอกชนเป็นเงิน 4,215,420 บาท จากจำนวนข้าว 833,660 กิโลกรัมมาแล้ว แต่เนื่องจากเงินค่าเสียหายมีรวมกันกว่า 9,572,400 บาท ทำให้ช่วงปลายปี 2557 ซึ่งชาวนาไปขอความคืบหน้าที่ศาลากลาง จ.เชียงราย มีข้อมูลว่า ขณะนั้นยังคงเหลือเงินที่ไม่ได้รับอีกกว่า 5,356,980 บาท

กำลังโหลดความคิดเห็น