บุรีรัมย์ - ชาวบ้านพุทไธสง บุรีรัมย์ ร่วม 100 คนฮือประท้วงหน้าธนารักษ์พื้นที่บุรีรัมย์ ร้องทวงถามขอความเป็นธรรมหลังกรมธนารักษ์สำรวจปักหมุดกำหนดแนวเขตคูเมืองโบราณทับที่อยู่อาศัย ที่ทำกินชาวบ้านที่มีโฉนดถูกต้องร่วม 500 ไร่ เผยร้องหลายหน่วยงานมานานร่วม 3 ปีแต่ไม่คืบหน้า ผวาถูกรื้อบ้านไร้ที่อาศัย วิงวอน คสช.ระงับโครงการคืนที่ดินมีเอกสารสิทธิให้ชาวบ้าน
วันนี้ (3 มี.ค.) ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลพุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ร่วม 100 คน นำโดยนายบันลือ สมบูรณ์เรศ ได้รวมตัวถือป้ายชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าสำนักงานธนารักษ์พื้นที่บุรีรัมย์ เพื่อเรียกร้องทวงถามขอความเป็นธรรมจากธนารักษ์พื้นที่บุรีรัมย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยเหลือ
หลังเจ้าหน้าที่จากกรมธนารักษ์ได้ออกมาสำรวจปักหลักหมุดกำหนดแนวเขตกำแพงคูเมืองโบราณ ตามที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพุทไธสง แต่ไม่ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า
รวมทั้งการปักหลักหมุดกำหนดแนวเขตคูเมืองโบราณดังกล่าวได้ทับซ้อนที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ ทั้ง น.ส.3 ก. และโฉนดที่ดินที่ทางราชการออกให้อย่างถูกต้อง รวมจำนวน 185 ราย เนื้อที่กว่า 455 ไร่ จากที่มีการสำรวจกำหนดแนวเขตทั้งสิ้นกว่า 780 ไร่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2557 กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ทำแผ่นป้ายมาติดทั่วไป ถือเป็นการยึดพื้นที่ตามกฎหมาย สร้างความทุกข์ใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะหากมีการกำหนดแนวเขตคูเมืองโบราณตามที่กรมธนารักษ์สำรวจจริงชาวบ้านจะต้องถูกรื้อถอนบ้าน โดยบางรายถูกกำหนดเขตทับซ้อนทั้งหลัง ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย และทำกิน ทั้งๆ ที่มีเอกสารสิทธิการถือครองที่ดินโดยถูกต้องตามกฎหมาย
จึงอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ระงับโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านด้วยการคืนที่ดินให้ชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ
นายบันลือ สมบูรณ์เรศ แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ตนได้ที่ดินเป็นมรดกตกทอดจากปู่ย่าตายาย ซึ่งมีหลักฐานเอกสารที่ออกจากทางราชการอย่างถูกต้อง แต่ถูกเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์มาปักหมุดแนวเขตที่ดินรุกล้ำในที่ของตน โดยไม่มีการสอบถามตนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแต่อย่างใด และไม่ยอมบอกเหตุผลของการมาปักหมุดแนวเขตด้วย จึงได้พากันไปร้องคัดค้านที่ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ให้ยุติการกำหนดแนวเขต ทั้งได้ทำหนังสือร้องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักนายกรัฐมนตรี กรมธนารักษ์ และกรมศิลปากร ให้ดำเนินการช่วยเหลือ แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมาร่วม 3 ปีก็ยังไม่มีความคืบหน้า
จึงได้รวมตัวกันมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมจาก คสช. เพื่อให้กรมธนารักษ์ทบทวนการกำหนดแนวเขตใหม่ที่ไม่กระทบหรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน หรือระงับโครงการดังกล่าว
ต่อมา พ.ท.ประพล อาจหาญ ผู้แทนกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ได้เดินทางมาพบชาวบ้านที่มาประท้วง พร้อมเชิญชาวบ้านผู้ชุมนุมไปที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงต่อชาวบ้านถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมี พ.อ.ธนกฤต พันธุ์รอด หัวหน้าศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชน กองกำลังรักษาความสงบ จังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ เข้าร่วมประชุมถึงแนวทางแก้ไขช่วยเหลือชาวบ้านด้วย แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
ทางศูนย์ดำรงธรรมฯ จึงได้ประสานไปยังกรมธนารักษ์ กรมศิลปากร และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาร่วมเจรจาหาทางออก เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านอีกครั้งในวันที่ 26 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
จากนั้นชาวบ้านที่มาชุมนุมต่างพอใจและได้พากันสลายตัวกลับในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ก่อนเดินทางกลับชาวบ้านบอกว่าหากการร้องเรียนครั้งนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ก็จะรวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมจนถึงที่สุดต่อไป