ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - แล้งทวีรุนแรง โคราชประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งเพิ่มเป็น 16 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ ราษฎรเดือดร้อนเฉียด 2 แสนราย กว่า 8.1 หมื่นครัวเรือน พบแล้งซ้ำซาก 91 หมู่บ้านใน 3 อำเภอ จังหวัดเร่งช่วยเหลือ ขณะอากาศร้อนจัดทำน้ำในเขื่อนลดระดับรวดเร็ว เผยเขื่อนลำพระเพลิงน้ำน้อยสุดเหลือน้ำแค่ 24%
วันนี้ (2 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางจังหวัดฯ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งฉุกเฉินแล้วจำนวน 16 อำเภอ ได้แก่ อ.บัวใหญ่ อ.โนนแดง อ.บัวลาย อ.สูงเนิน อ.บ้านเหลื่อม อ.ขามสะแกแสง อ.สีดา อ.ห้วยแถลง อ.โนนสูง อ.ประทาย อ.ด่านขุนทด อ.ชุมพวง อ.เทพารักษ์ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เทพารักษ์ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ รวม 94 ตำบล 1,075 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 16 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 81,214 ครัวเรือน 196,809 คน
โดยพบมีพื้นที่แล้งซ้ำซากย้อนหลัง 3 ปี (55-57) จำนวน 91 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.บัวใหญ่ จำนวน 54 หมู่บ้าน อ.สูงเนิน จำนวน 5 หมู่บ้าน อ.ห้วยแถลง จำนวน 32 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายเรียบร้อยแล้วจำนวน 14 อำเภอ 94 ตำบล 1,075 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 81,214 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหายทั้งหมด 443,856 ไร่ แยกเป็นข้าวจำนวน 403,047 ไร่, พืชไร่จำนวน 40,809 ไร่ โดยได้ดำเนินการของบกลางจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วจำนวน 1 อำเภอ ในพื้นที่ อ.โนนสูง เป็นข้าวทั้งหมดจำนวน 37,400.25 ไร่ เป็นเงิน 41,626,478.25 บาท และจากการประชุม ก.ช.ภ.จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558 ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ จำนวน 10 อำเภอ รวมวงเงิน 428,115,179.32 บาท นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อยู่ระหว่างดำเนินการรอประกาศภัยแล้ง 1 อำเภอ คืออำเภอจักราช รวม 8 ตำบล
ขณะที่โครงการชลประทาน จ.นครราชสีมา รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง โดยอ่างเก็บน้ำฯ รวม 27 แห่งของ จ.นครราชสีมามีปริมานน้ำคงเหลือ 510 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุ ระดับกับเก็บรวม 1,174 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 แห่ง ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีปริมาณน้ำเหลือ 418 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 948 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นแหล่งน้ำหลักที่ใช้ผลิตประปาให้บริการประชาชนใน 5 อำเภอ รวมทั้ง อ.เมืองนครราชสีมา และเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ปริมาณน้ำเหลือ 134 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุระดับกักเก็บ 324 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาการแย่งน้ำกันระหว่างเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรัง กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้น้ำผลิตประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำเหลือน้อยที่สุดแค่ 27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุ 109 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่อ่างลำมูลบน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 65.82 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46.68 ของความจุ 141 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำลำแชะ ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ทางเทศบาลนครราชสีมามีแผนผันน้ำเข้ามาผลิตประปาโดยก่อสร้างระบบและวางท่อด้วยงบประมาณกว่า 3,700 ล้านบาท แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากประชาชนในพื้นที่คัดค้าน ล่าสุดมีน้ำเหลือในอ่าง 134.60 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48.95 ของความจุ 275 ล้าน ลบ.ม.