xs
xsm
sm
md
lg

แล้งคุกคามอีสานใต้หนัก ประกาศภัยฉุกเฉิน 3 จว. เขื่อนใหญ่ลดฮวบ-เมืองโคราชอ่วมประปาไม่ไหล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา แห้งขอดหนัก ปริมาณน้ำเหลือแค่ 27.88 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25.43 ของความจุที่ระดับกับเก็บ  109 ล้าน ลบ.ม. วันนี้ ( 28 ม.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ภัยแล้งคุกคามอีสานใต้หนัก ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว 3 จังหวัด 20 อำเภอ ปปช.เดือดร้อนร่วม 9 หมื่นครอบครัว แหล่งน้ำต่างๆ เริ่มแห้งขอดและเน่าเสียใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้เดือดร้อนทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ขณะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และเล็กโคราชลดฮวบต่อเนื่อง รวมทั้ง “เขื่อนลำตะคอง” แหล่งน้ำดิบประปาเลี้ยงเมืองย่าโมเหลือไม่ถึง 50% อ่วมหลายพื้นที่ประปาไม่ไหล ส่วน“ลำพระเพลิง” แห้งสุดเหลือเพียง 25%

วันนี้ (28 ม.ค.) นางปิยฉัตร อินสว่าง รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 (ปภ.เขต5) นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ล่าสุดในพื้นที่รับผิดชอบของ ปภ.เขต 5 รวม 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้วรวม 3 จังหวัด 20 อำเภอ 140 ตำบล 1,551 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 89,203 ครอบครัว

ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา รวม 12 อำเภอ 84 ตำบล 905 หมู่บ้าน 61,603 ครอบครัว ประกอบด้วย อ.บ้านเหลื่อม บัวใหญ่ บัวลาย สูงเนิน โนนแดง ขามสะแกแสง สีดา ห้วยแถลง โนนสูง ประทาย ด่านขุนทด และชุมพวง, จ.บุรีรัมย์ รวม 2 อำเภอ 10 ตำบล 104 หมู่บ้าน 5,716 ครอบครัว 19,719 คน ประกอบด้วย อ.นาโพธิ์ และบ้านใหม่ไชยพจน์ และ จ.ชัยภูมิ รวม 6 อำเภอ 46 ตำบล 542 หมู่บ้าน 7 ชุมชน 21,884 ครอบครัว 46,153 คน ประกอบด้วย อ.หนองบัวแดง อ.เมืองชัยภูมิ คอนสวรรค์ เนินสง่า ภูเขียว และจัตุรัส

ขณะนี้ทางศูนย์ ปภ.เขต 5 ได้ส่งรถสูบน้ำระยะไกลเข้าไปช่วยเหลือในการสูบน้ำมากักเก็บไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค โดยในปีนี้คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ขณะที่สระน้ำแหล่งน้ำดิบผลิตประปาบ้านเตยกระโตน หมู่ 1 ต.ประทาย อ.ประทาย จ.นครราชสีมาทั้ง 2 แห่ง ปริมาณน้ำลดอย่างรวดเร็วและเริ่มเน่าเสียไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ชาวบ้านเตยกระโตนบอกว่าสระน้ำทั้งสองแห่งใช้งบกองทุนหมู่บ้านจ้างขุดเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในหมู่บ้าน แต่ขณะนี้น้ำในสระทั้ง 2 แห่งเริ่มเน่าเสียน้ำมีสีเขียวไม่มีใครกล้านำขึ้นมาใช้ แม้แต่จะให้วัวควายกิน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก บางส่วนต้องเดินทางไปตักน้ำจากลำคลองสะแทดที่ห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ 2 กิโลเมตร (กม.) มาใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน ซึ่งปีนี้นับว่าภัยแล้งมาเร็วมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดเล็กของ จ.นครราชสีมา ล่าสุดสำนักงานชลประทานจังหวัดนครราชสีมารายงานว่ามีปริมาณน้ำรวม 560.89 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47.75 ของความจุเก็บกักรวม 1,174.76 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการมีปริมาณน้ำ 459.08 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48.42 ของความจุเก็บกักรวม 948.02 ล้าน ลบ.ม.

โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญในการผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนชาว จ.นครราชสีมาหลายอำเภอ รวมถึงเทศบาลนครนครราชสีมา ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45.94 ล้าน ลบ.ม. ของความจุที่ระดับกักเก็บ 324.39 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้หลายพื้นที่ในเขตเทศบาลนครฯ น้ำประปาไม่ไหลและขุ่นข้น ขณะที่ทางเทศบาลฯ ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ

ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา แห้งขอดหนัก ปริมาณน้ำเหลือแค่ 27.88 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25.43 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของ จ.นครราชสีมา จำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำ 101.82 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44.90 ของความจุเก็บกักรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่การปลูกข้าวนาปรัง พบว่าราษฎรยังคงมีการปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้จำนวน 6,000ไร่ แต่ปลูกจริงมากถึง 13,256 ไร่
สระน้ำ แหล่งน้ำดิบผลิตประปาบ้านเตยกระโตน ม.1  ต.ประทาย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ทั้ง  2 แห่ง แห้งอย่างรวดเร็วและเน่าเสีย  นำมาใช้ประโยชน์ได้ เดือดร้อนทั้งคนและสัตว์เลี้ยง

กำลังโหลดความคิดเห็น