ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ภัยแล้งโคราชทวีความรุนแรงและขยายวงต่อเนื่อง นาบัวชาวบ้านโคราชยืนต้นตายเรียบ เกษตรกรหมดตัวเดือดร้อนถ้วนหน้า ขณะน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ลดฮวบ โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคองแหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราชและหลายอำเภอ ล่าสุดเหลือน้ำแค่ 43% เริ่มเปิดศึกแย่งชิงน้ำ ด้านเขื่อนลำพระเพลิงแห้งสุดเหลือ 24%
วันนี้ (10 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรของราษฎรเสียหายหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทำนาบัวในพื้นที่บ้านกระโตน ต.ประทาย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ประสบปัญหาขาดน้ำส่งเข้าไปเลี้ยงต้นบัว ทำให้บัวยืนต้นตายมากกว่า 10 ไร่
นายประกอบ เกษตรกรทำนาบัว ชาวบ้านกระโตน ต.ประทาย อ.ประทาย เปิดเผยว่า ตนได้ใช้ที่นาบางส่วนทำนาบัวประมาณ 10 ไร่เพื่อเก็บดอกและฝักอ่อนขาย โดยขายราคากำละ 10 บาทต่อ 7 ดอกหรือฝัก ซึ่งมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงที่ และทำมาทุกปี แต่ในปีนี้ผลผลิตไม่ดีเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง นาบัวขาดน้ำ และยืนต้นแห้งตายทั้งหมด ทำให้ขาดทุนไม่มีรายได้ เงินที่ลงทุนทำนาบัวทั้งหมดก็สูญเปล่าจึงเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ขณะนี้เกษตรกรรายอื่นๆ ในพื้นที่ อ.ประทาย ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากน้ำในสระน้ำ ลำห้วย คูคลองในพื้นที่ต่างแห้งขอด ไม่มีน้ำเหลือเลย
ขณะที่โครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมารายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวม 27 แห่งของ จ.นครราชสีมา ล่าสุดวันนี้ (10 ก.พ.) ระบุว่ามีปริมานน้ำคงเหลือ 540.70 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุระดับกับเก็บรวม 1,174 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 แห่ง ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีปริมาณน้ำเหลือ 442 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 948 ล้าน ลบ.ม.
โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักที่ใช้ผลิตประปาให้บริการประชาชนใน 5 อำเภอ และเขตเทศบาลนครนครราชสีมามีปริมาณน้ำเหลือ 142 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุระดับกักเก็บ 324 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้เริ่มประสบปัญหาแย่งน้ำกันระหว่างเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้น้ำจากลำตะคองผลิตประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 27.26 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม. ถือเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมาที่มีปริมาณน้ำเหลือน้อยที่สุด