xs
xsm
sm
md
lg

โคราชประกาศแล้งฉุกเฉิน 14 อำเภอ พื้นที่เกษตรสูญ 4.2 แสนไร่ ของบ 500 ล้านเร่งช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุ 109 ล้าน ลบ.ม.  เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่เหลือปริมาณน้ำน้อยที่สุด วันนี้ ( 17 ก.พ.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชประกาศภัยพิบัติภัยแล้งฉุกเฉินแล้ว 14 อำเภอ ราษฎรเดือดร้อนกว่า 1.5 แสนราย พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 4.2 แสนไร่ จังหวัดของบเร่งช่วยเหลือร่วม 500 ล้าน เผยเกิดปัญหาแย่งน้ำเหตุเกษตรกรทำนาปรังมากถึง 7.6 แสนไร่ เกินแผนที่กำหนดไว้เพียง 6,000 ไร่ ขณะปริมาณน้ำในเขื่อนลดต่อเนื่อง เขื่อนลำพระเพลิงแห้งสุดเหลือเพียง 24%

วันนี้ (17 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งฉุกเฉินแล้วจำนวน 14 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบัวใหญ่ อำเภอโนนแดง อำเภอบัวลาย อำเภอสูงเนิน อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอขามสะแกแสง อำเภอสีดา อำเภอห้วยแถลง อำเภอโนนสูง อำเภอประทาย อำเภอด่านขุนทด อำเภอชุมพวง อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ รวม 85 ตำบล 955 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 16 ชุมชน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 63,311 ครัวเรือน 153,424 คน

ทั้งนี้ จ.นครราชสีมาได้ดำเนินการสำรวจความเสียหายเรียบร้อยแล้วจำนวน 11 อำเภอ 78 ตำบล 815 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 38,369 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหายทั้งหมด 421,019 ไร่ แยกเป็น ข้าวจำนวน 388,296 ไร่, พืชไร่ จำนวน 32,720 ไร่ (ข้าวโพด 15,979.50 ไร่, มันสำปะหลัง 4,113 ไร่ และอ้อย 12,628 ไร่) และพืชสวนอื่นๆ (พริก) จำนวน 3 ไร่ จำนวนเงินที่ขอรับความช่วยเหลือ 469,741,657 บาท ซึ่ง จ.นครราชสีมาได้ดำเนินการของบกลางจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปแล้วจำนวน 1 อำเภอในพื้นที่อำเภอโนนสูง เป็นข้าวทั้งหมดจำนวน 37,400.25 ไร่ เป็นเงิน 41,626,478.25 บาท

สำหรับปีนี้เกษตรกรทำนาปรังในเขตชลประทานมากถึง 768,000 ไร่ จากแผนทำนาปรัง 6,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ซึ่งมีแผนทำนาปรัง 318,600 ไร่ เพาะปลูกจริงจำนวน 334,600 ไร่ ส่งผลให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำกันขึ้นกับท้องถิ่นต่างๆ ทางจังหวัดได้สั่งการให้แต่ละอำเภอจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

พร้อมให้สำรวจตรวจสอบระบบประปา แหล่งน้ำบาดาล ให้พร้อมใช้งาน จัดทำบัญชีรถน้ำ-รถดับเพลิง ขนาด 6,000-10,000 ลิตร จำนวน 141 คัน สูบน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ สำหรับผลิตประปาหมู่บ้าน ทำฝายชะลอน้ำ จำนวน 5 แห่ง ขุดลอกเปิดทางน้ำอำเภอโนนแดง จำนวน 6 โครงการ รวมทั้งเตรียมการในเขตอุตสาหกรรม โดยเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ได้ดำเนินการขุดบ่อบาดาล และเขตอุตสาหกรรมนวนคร อำเภอสูงเนิน ได้ขุดบ่อน้ำผิวดินใช้เอง ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งาน

ขณะที่โครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมารายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง และขนาดกลางรวม 27 แห่งของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำคงเหลือ 529 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุระดับกับเก็บรวม 1,174 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 แห่งปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีปริมาณน้ำเหลือ 434 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 948 ล้าน ลบ.ม.

โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา แหล่งน้ำหลักผลิตประปาบริการประชาชนใน 5 อำเภอ และเทศบาลนครนครราชสีมา ล่าสุดมีปริมาณน้ำเหลือ 138 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุระดับกักเก็บ 324 ล้าน ลบ.ม. และ กำลังประสบปัญหาแย่งน้ำกันระหว่างเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังกับองกรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้น้ำผลิตประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน

ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 27 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุ 109 ล้าน ลบ.ม. ถือเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่เหลือปริมาณน้ำน้อยที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น