xs
xsm
sm
md
lg

รองเสธ.ทภ.3-ผู้ว่าฯร่วมทำ MOU ผุดโรงไฟฟ้าขยะพิษณุโลกพันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก – รองเสธ. ทภ.3 พร้อมผู้ว่าฯ นำทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงนามใน MOU ร่วมกับเอกชน เดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมูลพันล้าน หวังแก้ปัญหาขยะล้นเมือง ขณะที่เถ้าแก่ “วงษ์พาณิชย์” จี้ทำประกันไว้ก่อน 5 พันล้าน ป้องกันความเสี่ยงต่อชุมชน-สิ่งแวดล้อม

วันนี้(27 ก.พ.) พ.อ.พิเศษ จาตุรงค์ เชื้อคำฟู รองเสนาธิการ ทภ.3 พร้อมนายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าฯพิษณุโลก , นายอภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) , ตัวแทนจากเทศบาลนครพิษณุโลก และตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันลงนามความร่วมมือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะระหว่างจังหวัดพิษณุโลกกับบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน)ที่ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมท็อปแลนด์ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะและการกำจัดขยะ ที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น

พ.อ.พิเศษ จาตุรงค์ กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวนโยบายในการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างความสมดุล ระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งการนำขยะมาใช้ประโยชน์ให้เป็นพลังงานควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อม ยังจะได้ซึมซับเรียนรู้การถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงถือเป็นเรื่องดีในการส่งเสริมความร่วมมือ โครงการนี้

ด้านนายจักริน กล่าวว่า ปัญหาขยะในจังหวัดพิษณุโลกนับวันจะมีมากยิ่งขึ้น การมีเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มาช่วยแก้ไขปัญหา จึงเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม ยิ่งทุกวันนี้ขยะพิษณุโลกในแต่ละวันมีมากถึง 600 ตัน แต่สามารถที่จะกำจัดได้เพียง 100 กว่าตัน จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไข ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีก

ดังนั้นจังหวัดพิษณุโลก จึงพร้อมส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำจัดขยะและหาพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนปัญหาเรื่องการประท้วง และต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะนั้น ทางจังหวัดพิษณุโลกยืนยันว่า ทำตามขั้นตอน มีการตรวจสอบ และต้องมีการทำประชาพิจารณ์ก่อนแน่นอน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางบริษัทเอเชีย กรีน เอนเนอจี มีความพร้อมในการกำจัดขยะ เนื่องจากมีเทคโนโลยี ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีโรงไฟฟ้าจากขยะเกาหลีใต้ – ญี่ปุ่น ที่มีลักษณะขยะใกล้เคียงกับไทย มีประสบการณ์มานานกว่า 30 ปีเป็นที่ปรึกษา ส่วนที่เลือกพิษณุโลก เป็นจังหวัดนำร่อง เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว จังหวัดเศรษฐกิจ ทำให้มีปริมาณขยะมาก เพียงพอสำหรับทำโรงไฟฟ้าขยะ และเป็นแบบอย่างเพื่อดำเนินการในจังหวัดอื่นๆต่อ

โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ เพื่อจะนำเอาขยะเปียกของพิษณุโลกวันละ 600 ตัน มาทำให้แห้ง แล้วนำขยะแห้งไปเผา นำความร้อนต้มน้ำได้ไอน้ำมาหมุนกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งขาย กฟภ. มีกำลังผลิตเฉลี่ยวันละ 6 เมกกะวัตต์

ทั้งนี้ตามขั้นตอนหลังจากทำ MOU จะมีการทำประชาคมหน่วยงานที่เกี่ยวในพิษณุโลก ให้ความรู้ ปรับกระบวนการในการร่วมมือคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน วิเคราะห์รูปแบบขยะ ซึ่งใน จ.พิษณุโลกส่วนใหญ่เป็นขยะเปียก ที่ให้ค่าความร้อนต่ำ ส่วนการจัดสร้างยังไม่ได้ระบุสถานที่ โดยจะพยายามเริ่มให้เร็วที่สุด ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี

นายสมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าขยะ แม้ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคสังคมต่างรู้สึกเป็นห่วง เพราะข้อมูลในการดำเนินการของโรงไฟฟ้าขยะวันนี้ยังไม่ชัดเจน ว่าจะมีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีความปลอดภัยต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด

จึงอยากเรียกร้องให้ทางบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) ได้ทำประกันภัยไว้กับ เอซ อินชัวรันซ์ ซึ่ง รับทำประกับภัยกับบริษัท หรือโรงงานขนาดใหญ่ ถ้าโรงงานขนาดใหญ่ได้มาตรฐาน ก็ควรทำประกับภัยมูลค่าคุ้มครองขั้นต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อคุ้มครองให้ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากกระบวนการผลิต สารเคมี หรือแม้แต่ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่

“อย่างวงษ์พาณิชย์ โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล เป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก็ได้ทำประกันภัยไว้กับกับทาง เอซ อินชัวรันซ์ มีมูลทรัพย์คุ้มครองความเสียหาย 300 ล้านบาท”



กำลังโหลดความคิดเห็น