xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น พ.ร.บ.จัดการขยะฯ บังคับใช้กระทบผู้ค้าของเก่าใน อ.ฆ้องชัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว หากบังคับใช้เชื่อว่าจะกระทบกับชุมชนในพื้นที่อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ หลายหมู่บ้าน
กาฬสินธุ์ - หมู่บ้านชำแหละของเก่าเตรียมรับสภาพ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วผ่านความเห็นชอบจาก สนช. เชื่อทำชาวบ้านขาดรายได้ คนตกงานเพิ่มขึ้น หวั่นต่อต้าน-ลักลอบทำเหมือนเดิม

จากกรณีมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.การกำจัดขยะแห่งชาติไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะมีการพิจารณาร่างนี้ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยอ้างลดความซ้ำซ้อนในการแก้ไข การกำกับดูแล และการจัดการขยะทุกประเภทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนของ พ.ร.บ.จัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ล่าสุดวันนี้ (21 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามความเห็นของผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า กลุ่มชำแหละของเก่า หลังองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายหนูกัน ชัยโชค กำนันตำบลโคกสะอาด นายประยูร ก้อนวิมล ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองบัว หมู่ 3 นายประเทือง นาถมทอง รองปลัด อบต.โคกสะอาด และนายสุรัตน์ ธรรมอินทร์ เลขานุการนายก อบต.โคกสะอาด

หารือและเตรียมการรับมือหากร่าง พ.ร.บ.การกำจัดขยะแห่งชาติผ่านความเห็นชอบจาก สนช. เนื่องจากเขต อบต.โคกสะอาด 12 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 7,500 คน ร้อยละ 80 ประกอบอาชีพค้าและชำแหละของเก่า ถือว่าเป็นแหล่งชำแหละและค้าของเก่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

นายหนูกันกล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.นี้บังคับใช้จริงจะส่งผลกระทบถึงความเป็นอยู่ทั้งหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านจะไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ ที่ผ่านมาการสร้างความเข้าใจในชุมชนเป็นเรื่องยากต่อการพูดคุย เพราะทุกคนเป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ เรื่องปากท้องสำคัญกว่าการเอาใจใส่เรื่องสภาพแวดล้อม แต่เมื่อ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริง กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อยากให้ผู้ที่มีอำนาจเข้ามาช่วยเหลือ ถือเป็นเรื่องใหญ่เกินที่คนในชุมชนจะจัดการเองได้ นอกจากนี้ต้องหาอาชีพสำรองให้ชาวบ้านด้วย

ขณะที่ตัวแทนภาครัฐอย่าง อบต.โคกสะอาดเริ่มศึกษาร่าง พ.ร.บ.นี้มากขึ้นเพราะต้องเข้าไปมีบทบาท แต่สิ่งที่กังวลคือ ชาวบ้านที่ไม่ยอมเลิกอาชีพรับซื้อของเก่า ยอมถูกจับ ถูกปรับ และต่อไปจะเกิดการลักลอบ ซึ่งจะยากต่อการควบคุม รวมถึงการต่อต้านคัดค้านอาจเกิดขึ้น

นายประเทืองกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกระทบต่อชาวบ้านที่นี่ แต่โดยรวมจะส่งผลดีต่อชาวบ้านและพื้นที่ใกล้เคียง เพราะปัจจุบันมีปัญหาเรื่องขยะพิษจำนวนมาก อบต.เข้าไปจัดการลำบาก ชาวบ้านเคยทำมาอย่างไรก็ยังทำอยู่ ขณะที่ผู้ประกอบการชำแหละของเก่า ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กว่า 240 ราย จะไปวางกรอบควบคุมกลุ่มผู้ทำอาชีพนี้ก็ถือเป็นเรื่องหนักใจ

เพราะผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าลงทุนจำนวนมาก บางรายกู้ธนาคารทำธุรกิจยังเป็นหนี้ แต่ละรายจ้างลูกจ้าง ลูกจ้างแต่ละคนมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน หากไม่มีอาชีพนี้คงลำบาก ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการยังไม่ทราบรายละเอียด พ.ร.บ. จึงเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นจะต้องเข้าไปดูแล และหากร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ก็ต้องควบคุมอย่างจริงจังด้วย

ด้านนางสมคิด จอมคำสิงห์ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 3 บ้านหนองมะทอ ต.โคกสะอาด ผู้ประกอบการ กล่าวว่า หาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วบังคับใช้คงได้รับผลกระทบ และเดือดร้อนมาก แต่เชื่อว่าคงจะมีการชำแหละขยะเหมือนเดิมเพราะเป็นอาชีพ ทุกวันต้องอาศัยหากินกับของเก่าเป็นรายได้หลักของครอบครัว ไม่ทำอาชีพนี้แล้วจะทำอาชีพอะไร จะมีการช่วยเหลือผู้ทำอาชีพนี้หรือไม่ เช่น ทุนสำรอง หรืออาชีพอื่น

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น การกำหนดให้มีคณะกรรมการจัดการซากผลิตภัณฑ์ การควบคุมให้ผู้ผลิตรับผิดชอบ รวมถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์ และการรับซื้อคืน เป็นต้น ทั้งยังระบุโทษมีทั้งโทษจำคุก และปรับตั้งแต่ 10,000-500,000 บาท และยังครอบคลุมถึงการควบคุมไม่ให้ทิ้งซากผลิตภัณฑ์ตามที่สาธารณะ หรือนำขยะดังกล่าวไปปะปนกับขยะมูลฝอย มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น