ศูนย์ข่าวศรีราชา - ทัพเรือภาคที่ 1 สนธิกำลังปิดล้อมอ่าวแสมสาร จับกุมแรงงานต่างด้าวเถื่อน ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ พบหลบหนีเข้าเมือง 3 ราย
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่กองบัญชาการ ทัพเรือภาคที่ 1 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พล.ร.ท.สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 มอบหมายให้ น.อ.จรัญวีร์ ญาดี เสนาธิการกองเรือปฏิบัติการ เป็นประธานการประชุมจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และป้องกันการค้ามนุษย์ พร้อมวางแผนเข้าปิดล้อมสะพานท่าเทียบเรือ และปากอ่าว ต.ตำบล เพื่อตรวจสอบจับกุมแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และจับกุมผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกระทรวงแรงงานกำหนด โดยบูรณการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงาน เข้าปฏิบัติตามแผนภารกิจ
ปฏิบัติการครั้งนี้ ทัพเรือภาคที่ 1 สนธิกำลังร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าปิดล้อมตรวจสอบบริเวณท่าเทียบเรือวราสินธ์ และท่าเทียบเรือสุวิทย์ ตรวจสอบเรือประมงกว่า 10 ลำ ไม่พบมีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานชนิดสีชมพู (ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว)
ในทะเลได้นำเรือตรวจการณ์ ต.230 และเรือยาง โดยมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางเรือ (มนุษย์กบ) ปิดปากอ่าวแสมสาร จู่โจมเข้าตรวจสอบเรือประมงที่กำลังลอยลำหาปลา พบกระทำความผิด 2 ลำ คือ เรืออวนปู ชื่อ รุ่งประเสริฐทรัพย์ มีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 ราย และเรือไดหมึก ชื่อ ศ.ชัยวัฒนา พบไม่การต่อทะเบียนเรือ จึงได้ควบคุมตัวไต๋เรือ และแรงงานต่างด้าวส่งพนักงานสอบสวน สภ.สัตหีบ ดำเนินคดีตามกฎหมาย
น.อ.จรัญวีร์ ญาดี เสนาธิการกองเรือปฏิบัติการ กล่าวว่า กองทัพเรือ โดยทัพเรือภาคที่ 1 มีภารกิจหลักในการป้องกันราชอาณาจักร และรักษาความมั่นคง รวมทั้งผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่รับผิดชอบให้พ้นจากภัยคุกคามต่างๆ การคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล และการป้องกันการค้ามนุษย์ ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่รัฐบาลมอบหมายให้รับผิดชอบเช่นกัน
สำหรับผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล ซึ่งให้ความคุ้มครองลูกจ้างในกลุ่มเรือประมง และต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จึงจะทำงานได้ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา และนายจ้างเจ้าของเรือต้องใช้แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง รวมถึงนายจ้างต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างก่อนออกเรือให้แก่เจ้าหน้าที่ และในรอบ 1 ปี ต้องพาลูกจ้างมารายงานตัว ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์เรื่องการค้ามนุษย์ที่กระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญมาก ต้องแก้ไขให้ยุติลงโดยเร็ว เพื่อลดระดับการค้ามนุษย์ในระดับเทียร์ 3 ให้หมดไป และให้นานาชาติได้เห็นมาตรฐานด้านการคุ้มครองแรงงานที่ดี มีพัฒนาการขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ ใน จ.ชลบุรี มีเรือประมง 765 ลำ เจ้าของกิจการ 550 ราย แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนทำงานประมง 8,507 คน เป็นพม่า 4,766 คน กัมพูชา 3,361 คน และลาว 250 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2557)