xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานสนธิกำลังตรวจสอบแรงงานประมงแสมสารแก้ปัญหาค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงแรงงาน สนธิกำลัง ตรวจสอบแรงงานประมงแสมสาร แก้ปัญหาค้ามนุษย์
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กระทรวงแรงงาน สนธิกำลังกว่า 20 หน่วยงาน เข้าตรวจสอบแรงงานประมงแสมสาร เพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ เบื้องต้นไม่พบการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

วันนี้ (21 ม.ค.) พล.อ.กิตติ ปทุมมาศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเรือประมง กิจการประมงทะเล และกิจการที่เกี่ยวข้อง ท่าเรือวราสินธ์ ท่าเรือสุวิทย์ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงาน ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจเรือประมง 4 ลำ แรงงานต่างด้าวกว่า 140 คน ไม่พบมีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานชนิดสีชมพู (ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว)

นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเลมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งให้ความคุ้มครองลูกจ้างในกลุ่มเรือประมงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่จะทำงานในเรือประมงต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปถึงจะทำงานได้ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา และนายจ้างเจ้าของเรือต้องใช้แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง รวมถึงนายจ้างต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างก่อนออกเรือให้แก่เจ้าหน้าที่ และในรอบ 1 ปี ต้องพาลูกจ้างมารายงานตัว ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์เรื่องการค้ามนุษย์ที่กระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) ให้ความสำคัญมาก ซึ่งจะต้องแก้ไขให้ยุติลงโดยเร็ว เพื่อลดระดับการค้ามนุษย์ให้หมดไป และให้นานาชาติได้เห็นมาตรฐานด้านการคุ้มครองแรงงานที่ดี มีพัฒนาการขึ้นกว่าเดิม โดยต้องการให้เจ้าของเรือได้รับทราบกฎกระทรวงฉบับใหม่ และให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

จากการตรวจเรือประมง 4 ลำ แรงงานต่างด้าวกว่า 140 คน ไม่พบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานชนิดสีชมพู อีกทั้งยังได้รับรายงานเข้ามาในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ยังไม่พบการกระทำผิดใดๆ

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจในครั้งนี้ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทราบกฎหมายฉบับใหม่ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล ให้มีการคุ้มครองแรงงาน เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ขู่บังคับใช้แรงงานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีเรือประมง 765 ลำ เจ้าของกิจการนายจ้าง 550 ราย แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนทำงานประมง 8,507 คน เป็นแรงงานต่างด้าวพม่า 4,766 คน กัมพูชา 3,361 คน และลาว 250 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2557)
เจ้าหน้าที่กว่า 20 หน่วยงาน ร่วมกันตรวจในครั้งนี้
การตรวจครั้งนี้ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ ที่ผิดกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น