xs
xsm
sm
md
lg

มติ สนช.ผ่านฉลุยแก้ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ เพิ่มอำนาจ จนท.ปรับบทลงโทษหนักถึงประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุม สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ รมว.พม. แจง ของเดิมไม่เหมาะป้องกันการค้ามนุษย์ที่มีความรุนแรง ควรปรับปรุง ผุดคณะกรรมการ ปคม. เพิ่มแรงจูงใจแจงเหตุ ได้รับการคุ้มครอง เพิ่มอำนาจ จนท. สั่งปิดกิจการชั่วคราว ปรับบทลงโทษโหด ก่อนมีมติเอกฉันท์ 177 เสียงผ่านฉลุย

วันนี้ (5 มี.ค.) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานในการประชุม มีการพิจารณาเรื่องร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ในวาระแรก นำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงหลักการและเหตุผลว่าเนื่องจาก มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมต่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปัจจุบันที่มีความรุนแรง ซับซ้อน และเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ จึงเห็นควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยกำหนดให้มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์การค้ามนุษย์แจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำหนดมาตรการเพิ่มอำนาจทางปกครองให้แก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ฉบับนี้ มีสาระสำคัญอาทิเช่น กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ปคม.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตีเป็นประธานกรรมการ รองนายกฯ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ ปกค. เป็นรองประธานกรรมการ รมว.กลาโหม รมว.ต่างประเทศ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.พัฒนาสังคมฯ รมว.มหาดไทย รมว.ยุติธรรม รมว.แรงงาน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ที่นายกฯแต่งตั้ง และมีปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯเป็นเลขานุการ โดย คกป. มีหน้าที่เสนอครม. กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ โดยนายกฯออกประกาศมาตรการดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาและแต่งตั้งคณะอนุกรรมาการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งปิดสถานประกอบกิจการหรือโรงงานชั่วคราว พักใช้ใบอนุญาตประกอบการ ห้ามใช้ยานพาหนะ ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นอีก ในกรณีที่พบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว และการสั่งดังกล่าวต้องไม่เกินครั้งละ 30 วัน นับแต่วันได้รับทราบคำสั่ง และผู้ใดแจ้งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา

อีกทั้งยังมีการกำหนดโทษหากกระทำผิดตามกฎหมายกำหนดเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบการ โรงงานหรือยานพาหนะ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 160,000 - 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หากถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช. ได้อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ก่อนลงมติเอกฉันท์รับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 177 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 15 คน กำหนดระยะเวลาดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น