ศาลฎีกาสั่งจำคุกตลอดชีวิต อดีต หน.ฝ่ายพัฒนาฯ บ.น้ำตาลเกษตรไทย ฐานสนับสนุนฆ่า “ไมเคิล วันสเลย์” ผู้ตรวจสอบบัญชีโรงงาน และให้แก้โทษจำเลยที่ 2 และ 4 จากโทษประหารชีวิต เหลือจำคุกตลอดชีวิต
วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ ด.12103/2542 ที่พนักงานอัยการจังหวัดนครสวรรค์ และนายอดัม เออร์วิน วันสเลย์ น้องชายนายไมเคิล วันสเลย์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบบัญชี บริษัท เซ้าท์ สาทร แพลนเนอร์ จำกัด ผู้เสียชีวิต ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง นายบุญพรรณ สุทธิวิริวรรณ อดีตหัวหน้าฝ่ายพัฒนาบุคลากรและประชาสัมพันธ์ฝ่ายไร่โรงงานน้ำตาล บริษัท น้ำตาลเกษตรไทย จำกัด จ.นครสวรรค์, นายสมโชค สุทธิวิริวรรณ น้องชายของบุญพรรณ อดีตพนักงานโรงงานน้ำตาล บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด อุตรดิตถ์, นายประดิษฐ์ ศิริวิริยะกุล ผู้จัดการฝ่ายไร่โรงงานน้ำตาล บริษัท น้ำตาลเกษตรไทย จำกัด และนายสมพงษ์ บัวสกุล หรือพงษ์ ปากพนัง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานจ้างวานฆ่า และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 ประกอบ 83 และ 84
โดยคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2544 บรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2542 เวลากลางวัน นายประดิษฐ์ จำเลยที่ 3 ได้มีเจตนาฆ่านายไมเคิล เออร์วิน วันสเลย์ อายุ 58 ปี ชาวออสเตรเลีย หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบบัญชี บริษัท เซ้าท์ สาทร แพลนเนอร์ จำกัด ด้วยการจ้างวานจำเลยที่ 1, 2, 4 และนายสมชาย ใจห้าว จำเลยร่วมซึ่งศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ร่วมกันใช้อาวุธปืนขนาด 11 มม. รัวยิงนายไมเคิล ขณะนั่งรถยนต์ตู้โตโยต้า ทะเบียน 5ฝ-8231 กรุงเทพมหานคร ระหว่างเดินทางไปโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย กระสุนถูกศีรษะ และลำตัวเสียชีวิตทันที เนื่องจากผู้ตายตรวจสอบพบการทุจริตของโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เหตุเกิดบริเวณทางเข้าโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันติดตามจับกุมจำเลยมาดำเนินคดี โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2549 ให้จำคุกตลอดชีวิต นายบุญพรรณ จำเลยที่ 1 ฐานสนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 86 ส่วนนายสมโชค จำเลยที่ 2 และนายสมพงษ์ จำเลยที่ 4 ให้ประหารชีวิต ฐานเป็นตัวการร่วมฆ่าผู้อื่นฯ ตามมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 83 โดยให้ยกฟ้องนายประดิษฐ์ จำเลยที่ 3 เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วม ที่นำสืบ ยังไม่มีน้ำหนักมั่งคงเพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้จ้างวาน
โดยอัยการโจทก์ และโจทก์ร่วม ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษนายประดิษฐ์ จำเลยที่ 3 ด้วย ขณะที่จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ขอให้ศาลยกฟ้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2554 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลย 1, 2 และ 4 ยื่นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีนี้โจทก์โจทก์ร่วมนอกจากมีเจ้าหน้าที่และพนักงานตำรวจเบิกความแล้ว ก็ยังมีทั้งคำให้การของนายฉลอง พินผ่อง พนักงานจัดคิวรถส่งอ้อย ที่เป็นลูกน้องของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ไปจัดหารถจักรยานยนต์เพื่อใช้เป็นยานพาหนะให้คนร้ายใช้ก่อเหตุและคำให้การของนายสมชาย ใจห้าว ผู้ร่วมกระทำผิดซึ่งได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ที่มีคำพิพากษาแล้ว โดยทั้งสองให้การไว้หลังการถูกจับกุมเพียงไม่กี่วันว่านายบุญพรรณ จำเลยที่ 1 ให้เงิน 30,000 บาทกับนายฉลองเพื่ออำนวยความสะดวกจัดหารถจักรยานยนต์ให้คนร้าย และให้นายฉลองนำรถจักรยานยนต์ไปไว้ให้คนร้ายที่ปากทางเข้าวัดหนองโพ เพื่อใช้ก่อเหตุ
โดยโจทก์ก็ได้นำทั้งนายฉลองและนายสมชาย เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นจับกุมที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งแม้ว่าคำให้การจะเป็นคำซัดทอด แต่ก็ไม่ใช่คำให้การที่ผู้ร่วมกระทำผิดจะให้การปรักปรำ เพราะคำเบิกความไม่ทำให้ตนเองพ้นผิดจากโทษอาญา จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้อย่างมั่นคง และยังมีภรรยาของนายฉลอง มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยขณะเดียวกันโจทก์และโจทก์ร่วม ก็ยังมีแม่ค้าที่อยู่ปากทางเข้าวัด, พนักงานร้านอาหารแม่ลาปลาเผา จ.สิงห์บุรี ที่ได้เห็นจำเลยไปพบกันนายสมชาย ก่อนเกิดเหตุ และเจ้าของอพาร์ทเม้นต์ที่นายสมโชค จำเลยที่ 2 ไปเช่าไว้ให้นายพิเชษฐ์ แก้วสามดวง มือปืน ต่างเบิกความเชื่อมโยงพฤติการณ์ของจำเลยในช่วงต่างๆ อีกทั้งยังมีพยานที่เบิกความเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกันระหว่างกลุ่มจำเลยในช่วงเกิดเหตุด้วย
เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมา รับฟังได้ว่าพวกจำเลยได้ร่วมกันอำนวยความสะดวกให้มีการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในเหตุผลจึงพิพากษายืนให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ฐานสนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นฯ
ส่วนนายสมโชค จำเลยที่ 2 และนายสมพงษ์ จำเลยที่ 4 นั้นฎีกาฟังขึ้นบางส่วน ที่ศาลล่างพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฐานเป็นตัวการ ร่วมกันฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 83 นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฐานสนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นฯ