xs
xsm
sm
md
lg

มติ สนช.เอกฉันท์ผ่าน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร วาระ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ให้คดีศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อยู่ในอำนาจ ให้ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิพากษาคดีอาญา เว้นจำเลยมียศสัญญาบัตร ผบ. มีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาที่อยู่ในอำนาจในกรณีที่มีเหตุจำเป็น พร้อมตั้งทนายให้จำเลย การพิพากษาตาม ม.192 ส่วนหญิงมีครรภ์ที่ถูกประหารให้รอไว้ก่อนจนว่าจะพ้น 3 ปี นับแต่คลอดบุตร แล้วให้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ด้านสมาชิกห่วงอำนาจครอบคลุมพลเรือน และฝากขังได้ 84 วัน ยันไม่มีเรื่องชาวบ้าน เว้นแต่คดีมั่นคงและหมิ่นสถาบัน ก่อนลงมติเห็นชอบเอกฉันท์ในวาระ 3

วันนี้ (19 ก.พ.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2558 มี นายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญที่มี พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นั้น กำหนดให้ รมว.กลาโหม มีอำนาจออกข้อบังคับและระเบียบ เพื่อปฏิบัติการตามร่างพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้ระเบียบราชการของศาลทหารและอัยการทหารต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง กำหนดให้คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมาย เว้นแต่คดีที่จำเลยมียศทหารชั้นสัญญาบัตร ศาลทหารสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารกลาง และคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้นโดยตรงไปยังศาลทหารสูงสุด ผู้บังคับบัญชาทหารมีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารได้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็น ศาลทหารตั้งทนายให้แก่จำเลย และให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายที่ศาลตั้ง

กำหนดให้การพิพากษาคดีของศาลทหารสอดคล้องกับมาตรา 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และแก้ไขการบังคับคดีในกรณีหญิงมีครรภ์ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต โดยกำหนดให้รอการประหารชีวิตไว้ก่อนจนกว่าจะพ้นกำหนดสามปีนับแต่คลอดบุตร แล้วให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการบังคับคดีในกรณีหญิงมีครรภ์ตามมาตรา 247 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ทั้งนี้ สมาชิก สนช. ได้แสดงความเป็นห่วงในประเด็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลทหารมีอำนาจครอบคลุมพลเรือนและสามารถฝากขังผู้ต้องหาได้ภายใน 84 วัน เพราะเป็นประเด้นที่มีเสียงวิจารณ์จากสังคม จึงอยากให้ทางคณะกรรมาธิการชี้แจงให้ชัดเจนด้วย ซึ่งทาง พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า ตามหลักการผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งคุมตัวได้ ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. นี้ จะเขียนให้มีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ไม่มีเรื่องพลเรือนทั่วไปมาขึ้นศาลทหารโดยเด็ดขาด ยกเว้นกรณีที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศให้คดีหมิ่นสถาบันฯ และคดีที่เป็นภัยความมั่นคง เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

หลังจากนั้น ทางสมาชิกได้ลงมติว่าจะรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ประกาศใช้เป็นกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่า ที่ประชุมได้ลงมติเอกฉันท์ เห็นชอบวาระ3 ด้วยคะแนนเสียง 179 งดออกเสียง 5 เสียง และให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาประกาศเป็นกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น