พิษณุโลก - อธิบดีกรมป่าไม้ยกคณะเปิดยุทธการพิทักษ์ไพรทวงคืนผืนป่าพิษณุโลก ยึดสวนยางพาราวังทอง ปักเสาหลักเขตป่าสงวนแทน ย้ำเอาจริงกับนายทุน เตรียมเสนอ ปปง.ตามยึดทรัพย์ต่อ เล็งเสนอนโยบาย “เปิดป่าครอบครัว” ให้ชุมชนขอใช้ประโยชน์จากป่า หลังประกาศปิดมานาน 25 ปี
วันนี้ (8 ก.พ.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ เดินทานมาที่โรงเรียนบ้านหินประกาย ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เพื่อเปิดยุทธการพิทักษ์ไพรทวงคืนผืนป่าต้นน้ำ ตรวจยึดพื้นที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติใน ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่มีนายทุนจากภาคใต้มาบุกรุก 3 จุด รวม 2,070 ไร่ ซึ่งวันนี้ได้ตรวจสอบพื้นที่ลักลอบปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการปลูกอยู่ทั่วประเทศ 4 ล้านไร่ เขตป่าอนุรักษ์ที่เป็นอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งต้องพยายามควบคุมพื้นที่ตรงนี้ไม่ให้มีการขยายการปลูกมากเกินไป
โดยเริ่มต้นที่ จ.พิษณุโลกเป็นจังหวัดแรก เพราะมีข้อมูลรายงานว่ามีกลุ่มนายทุนจากภาคใต้มาบุกรุกหลายพื้นที่ตามขอบชายป่าสมบูรณ์หลายจุด ทางกรมป่าไม้ได้เข้ามาตรวจสอบหลายครั้ง และได้ยึดไปแล้วบ้างตามการทำงานในภาวะปกติของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
“ถือเป็นการเปิดยุทธการพิทักษ์ไพรของสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเดิมเป็นป่าที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก เรียกว่าไข่แดง ทำให้การดูแลเข้าไม่ถึง ผู้ไม่หวังดีจึงลักลอบเข้ามาตัดไม้แล้วแอบมาปลูกยางพารา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดแล้ว”
นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังจะประสาน ปปง.นำกฎหมายฟอกเงินมาใช้ด้วย ซึ่งกลุ่มนายทุนที่เข้ามาลักลอบหาประโยชน์ในพื้นที่ป่าที่เป็นสมบัติส่วนรวมจะต้องติดตามยึดทรัพย์ จึงขอแจ้งไปยังกลุ่มนายทุนทั้งใน จ.พิษณุโลก และทั่วประเทศ ว่ากรมป่าไม้จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดแน่นอน
ส่วนป่าที่ยึดคืนได้จะปรับรูปแบบการดูแลรักษาให้เป็นป่าชุมชนต่อไป โดยได้พูดคุยกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ และเสนอกรมป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในลักษณะป่าครอบครัว สามารถขอรับต้นไม้จากกรมป่าไม้ที่ปีนี้ได้เตรียมกล้าต้นพะยูง สัก และไผ่ไว้ให้ประชาชนปลูกในป่าอนุรักษ์ พื้นที่เอกสารสิทธิ และสวนป่าไม่ต่ำกว่า 45 ล้านกล้า และในอนาคตหลังปิดป่ามาเป็นเวลา 25 ปีทำให้ไม่สามารถเข้ามาหาประโยชน์ได้ จึงสนับสนุนให้ทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ประชาชนขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้ด้วย
ข่าวแจ้งว่า จุดแรกที่นายธีรภัทรนำเจ้าหน้าที่เดินทางไปคือ ที่บ้านสะพานสาม หมู่ 21 ต.บ้านกลาง ตรวจยึดพื้นที่สวนยางพาราอายุประมาณ 3 ปี เนื้อที่ 683 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งขวา ตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบระหว่างปี 2545 เดิมเป็นป่าสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กับภาพถ่ายทางอากาศในปี 2557 พบสภาพเป็นสวนยางพารา จึงทำการตรวจยึดและปักหลักเขตแสดงเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จากนั้นไปตรวจสอบป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งขวา ต.บ้านกลาง อีกหลายจุด พบว่าส่วนใหญ่รุกจากชายขอบที่ดินที่มีเอกสาร ส.ป.ก.4-01 เข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ละแปลงมีพื้นที่บุกรุกหลายร้อยไร่
นายธีรภัทรกล่าวว่า หลายหน่วยงาน เช่น กอ.รมน.พิษณุโลก ฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ผู้นำชุนชน ร่วมกันเปิดปฏิบัติการต่อเนื่อง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ดูแลผืนป่าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งทางกระทรวง โดยเฉพาะกรมป่าไม้ได้นำเอาแนวทางการดำเนินงานตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “แอเรีย ออพเพอเรชัน” หรือเอโอ ที่มีอยู่ 4 ประเภท
คือ เอโอ 1 พื้นที่เสร็จสิ้นคดีเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะทำตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เอโอ 2 พื้นที่ดำเนินคดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ หรือศาล เอโอ 3 พื้นที่บุกรุกป่าใหม่ รวมถึงพื้นที่ตรวจสอบเอกสารสิทธิ ป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มใหม่ และเอโอ 4 เป็นป่าสมบูรณ์ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 33 ล้านไร่ที่ทางกรมป่าไม้ต้องป้องกันให้ได้
วันเดียวกัน นายธีรภัทรพร้อมคณะยังได้บินสำรวจพื้นที่ป่าที่เป็นป่าต้นน้ำแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำวังทอง และเดินทางไปดูการบายพาสต้นสัก ที่ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ ที่ถูกผู้ไม่หวังดีลอบกานให้ยืนต้นตาย โดยกรมป่าไม้ใช้วิธีบายพาสต่อท่อน้ำเลี้ยงเพื่อช่วยให้ต้นสักมีชีวิตต่อไปได้