กระบี่ - กระบี่นายทุนรุกป่าต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานสนธิกำลังกว่า 200 นาย ลุยตรวจยึดพื้นที่ป่าเขาต่อ อ.ปลายพระยา ที่มีการบุกรุกมากกว่า 1,500 ไร่ พบเป็นของกำนันดังในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่จ้างคนในพื้นที่เข้ามาแผ้วถาง บุกรุกต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี
เมื่อเวลา 15.00 น.วันนี้ (20 ม.ค.) พ.อ.พงษ์เทพ ประกอบศุขราษฎร์ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดกระบี่ นายอินทรพล สุทธิวิริยะ นายอำเภอปลายพระยา นายบุญสืบ สมัครราช ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร อส.และชุด ชรบ. เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาต่อ ม.1, 2, 3, 6 และ7 ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ รวมเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ หลังมีการร้องเรียนว่าถูกนายทุนบุกรรุกแผ้วถางปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพาราจำนวนมาก
จากการตรวจสอบพบว่า สภาพพื้นที่ถูกบุกรุกเป็นเนินเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบร่องรอยการนำรถแบ็กโฮปรับถนนจากตีนเขาขึ้นไป จนถึงยอดเขาระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร และมีการตัดโค่นต้นไม้จนภูเขาโล่งเตียนกว่า 1,500 ไร่ และมีการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน อายุ 2-3 ปี จำนวนกว่า 5 หมื่นต้น เจ้าหน้าที่จึงตรวจยึดพื้นที่ พร้อมจับพิกัดเพื่อตรวจสอบแนวเขตที่ชัดเจนอีกครั้ง
นายบุญสืบ สมัครราช ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ กล่าวว่า พื้นที่ถูกบุกรุกอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาต่อ รวมเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 30,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่รอยต่อจังหวัดกระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี และเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญของ อ.ปลายพระยา และ อ.อ่าวลึก ถูกบุกรุกไปประมาณ 1,500 ไร่ ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพพื้นที่ พบว่า มีการบุกรุกทำลายมานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี และนอกจากนี้ ยังพบไม้แปรรูปจำนวนหนึ่งซึ่งในเบื้องต้นได้ตรวจยึดไว้เป็นของกลาง
ซึ่งจากตรวจสอบข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่า มีกำนันชื่อดัง ผู้กว้างขวางคนหนึ่งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาว่าจ้างชาวบ้านให้เข้ามาปรับพื้นที่ปลูกอาสิน เพื่อเตรียมออกเอกสารครอบครอง ซึ่งจะได้ให้เจ้าหน้าที่สืบสวนเพื่อติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป ส่วนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกในครั้งนี้เคยมีการจับกุมดำเนินคดีแล้ว จำนวนกว่า 300 ไร่ ซึ่งจะได้ประกาศตามมาตรา 25 ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็จะทำการตรวจยึด และแจ้งความดำเนินคดีต่อไป เพื่อเอาพื้นที่ป่ากลับคืนมาเป็นของรัฐต่อไป