อุตรดิตถ์/พิษณุโลก – ป่าไม้พิษณุโลก ปล่อยแถวปราบมอดไม้ ประเดิมใช้ “โดรน”ติดกล้องสำรวจผืนป่าก่อนจับกุม ล่าสุดพบนายทุนต่างถิ่นรุกปลูกสวนยาง-มะม่วง เขตสงวนแห่งชาติป่าสองฝั่งลำน้ำแควน้อยอีก ขณะที่อุตรดิตถ์ย้ำ 3 แนวทางปฏิบัติก่อนยึด-รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกลางป่า
วันนี้ (14 ม.ค.) นายมานพ สายอุ่นใจ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 พิษณุโลก เป็นประธานในพิธีปล่อยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จำนวน 11 หน่วย และหน่วยควบคุมไฟป่า 1 หน่วย ณ หน่วยป้องกันรักษาป่า พล.9 ปากพาน หมู่ 10 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ตามแผนยุทธการปฎิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระผิดกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ 14 ป่าสงวน เนื้อที่ 3.1 ล้านไร่ของพิษณุโลก และ 13 ป่าสงวน เนื้อที่ 3.9 ล้านไร่ของเพชรบูรณ์
โดยได้นำโดรน ติดกล้องไว้บริเวณใต้ปีกสามเหลี่ยมใหญ่ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนฟรีจากบริษัท CGG จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคนไทย รับจ้างตรวจสอบโครงสร้างทางธรณีในต่างประเทศ จำนวน 1 ลำ มูลค่า 1.3 แสนบาท สามารถบินตรวจผืนป่าได้ไกลรัศมี 10 กิโลเมตร ทดลองบินสำรวจไปตามพิกัด ป่าสงวนแห่งขาติป่าโป่งแค รอยต่อจังหวัดพิษณุโลก-อุตรดิตถ์ว่า มีผู้บุกรุกทำลายป่าหรือไม่ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ภาคพื้นดินเป็นผู้ดำเนินการจับกุม ทันทีที่พบเป้าหมาย
กระทั่งพบว่า บริเวณป่าโป่งแค หมู่ 10 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ ซึ่งเป็นผืนป่าสงวนแห่งชาติ ถูกปรับสภาพโล่งเตียนจนผิดสังเกต ขณะที่ภาพถ่ายทางอากาศปี 45 ยังมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ จึงสั่งการให้กำลังเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินบุกเข้าตรวจสอบทันที จนทราบว่า มีพื้นที่บุกรุกแผ้วถางยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าต้นน้ำลำห้วยหยวกเขตป่าสองฝั่งลำน้ำแควน้อย และมีการปลูกยางพาราอายุประมาณ 1 ปี จำนวน 276 ต้น มะม่วง 284 ต้น รวมเนื้อที่ 35-1-68 ไร่
จากนั้นนายมานพ สายอุ่นใจ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 พิษณุโลก จึงได้ลงชื่อเป็นผู้ตรวจยึด ในบันทึกจับกุมพื้นที่ (ไม่มีผู้ต้องหา) ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วัดโบสถ์ให้ดำเนินคดี ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 54 และมาตรา 55 ยึดถือ แผ้วถาง ครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และ พ.ร.บ.ป่าสงวน 2507 มาตรา 14 บุกรุก ยึดถือครองครองป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต
วันเดียวกันนายสัญญา แก้วธรรมานุกูล หัวหน้าศูนย์ประสานงานป่าไม้อุตรดิตถ์ , นายชาติระวี สัญจร หัวหน้าฝ่ายป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ได้ทำพิธีเปิดยุทธการเดียวกันเนื่องในวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ โดยได้กำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ 3 ข้อ คือ
1. หากดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแล้วเกิดผลกระทบกับชาวบ้านให้หยุดดำเนินการแล้วพิจารณาทบทวนการปฏิบัติจากนั้นจึงพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่
2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามแผนให้มากที่สุด
3.ในการรื้อถอนขนาดใหญ่ให้วิศวกรประเมินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนก่อนแล้วแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้กระทำผิด เพื่อให้รับทราบก่อนดำเนินการ