กำแพงเพชร - เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดกำแพงเพชรเสนอสร้างตลาดกลางยางพารา จะช่วยลดต้นทุนภาคการขนส่ง เพิ่มมูลค่าราคายางดีขึ้น พร้อมมอบที่ดินในการก่อสร้างให้กว่า 15 ไร่
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่บ้านเลขที่ 193/2 หมู่ 12 ต.ไตรตรึงษ์ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร นายธนศักดิ์ ทองจันทร์ ผู้อำนวยการปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดกำแพงเพชร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเอกสารโฉนดที่ดิน จำนวน 15 ไร่ของนายจรินทร์ เดชเดชะ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรสวนยางจังหวัดกำแพงเพชร ที่มอบให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อสร้างตลาดกลางยางพาราจังหวัดกำแพงเพชร
จากการตรวจสอบพบว่าเอกสารโฉนดที่ดินได้มาอย่างถูกกฎหมาย เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการสร้างตลาดกลางยางพาราจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากในตำบลไตรตรึงษ์มีเกษตรกรปลูกสวนยางมากที่สุดในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะได้รายงานให้ต้นสังกัดได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
นายจรินทร์ เดชเดชะ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรสวนยางจังหวัดกำแพงเพชร เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรขายยางพาราได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ทำให้สหกรณ์กองทุนสวนยางนครไตรตรึงษ์กำแพงเพชรร่วมกับสมาชิกช่วยกันผลักดันให้มีการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราขึ้นที่จังหวัดกำแพงเพชรเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการขนส่ง เพราะหากมีตลาดกลางยางพาราภาคเหนือจะทำให้สามารถลดต้นทุนในการขนส่งไปที่ตลาดกลางภาคใต้ โดยสามารถจำหน่ายในราคากลางกับตลาดกลางโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า ซึ่งจะช่วยให้จำหน่ายยางพาราได้ราคาดีกว่าที่เคยเป็น
สอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันหาแนวทางให้มีตลาดกลางสินค้าเกษตรระดับต่างๆ ในพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของตลาดกลางสินค้าเกษตรมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเกษตรกรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้านนายธนศักดิ์ ทองจันทร์ ผู้อำนวยการปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 13 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก โดยร้อยละ 95 ของสวนยางทั้งประเทศเป็นสวนยางขนาดเล็ก และเกษตรกรชาวสวนยางของประเทศไทยกว่าร้อยละ 90 เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 83 ผลิตยางจำหน่ายในรูปของยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วย มีเพียงร้อยละ 17 ผลิตจำหน่ายในรูปของน้ำยางสด โดยอยู่ในลักษณะต่างคนต่างผลิตและจำหน่ายผ่านทางระบบตลาดท้องถิ่น
บางครั้งเกิดความไม่เป็นธรรมในด้านน้ำหนัก คุณภาพ และราคา ระบบตลาดกลางยางพาราเป็นระบบตลาดที่ซื้อขายโดยมีการส่งมอบยางจริง เช่นเดียวกับระบบตลาดยางท้องถิ่น ปัจจุบันเปิดดำเนินการ 3 ตลาด คือ ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช และตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี ที่ให้บริการซื้อขายยางประเภทต่างๆ
ได้แก่ ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน และยางแผ่นผึ่งแห้ง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร มีเป้าหมายจัดตั้งตลาดกลางยางพาราเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในแหล่งปลูกยางใหม่ คือ ที่จังหวัดหนองคาย และจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อรองรับการให้บริการซื้อขายยางให้ครอบคลุมแหล่งผลิตยางมากขึ้น ส่วนภาคเหนือยังไม่มีตลาดกลางในการรับซื้อ จึงเป็นแนวทางที่ดีที่จะมีการผลักดันให้มีตลาดกลางทางภาคเหนือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น