พิจิตร - เมืองชาละวันระดมชาวนาเข้าห้องติวเข้มหาทางรอดหลังสิ้นยุคจำนำข้าว เปิดเออีซี ชี้อนาคตชาวนาไทยต้องปรับตัวลดต้นทุนผลิต เพิ่มคุณภาพ ขายเองเบ็ดเสร็จ ก่อนถูกข้าวเวียดนามถล่มซ้ำ พร้อมจี้รัฐเร่งขายทิ้งสต๊อกข้าว 18 ล้านตัน ยอมขาดทุนเพิ่มอีก 5 หมื่นล้าน แทนดันทุรังเก็บให้เน่า แถมค่าเช่าโกดังก็ยังต้องจ่าย
นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมกลุ่มชาวนา ผู้นำท้องถิ่น และหัวหน้าส่วนราชการ รวมกว่า 500 คน เข้าร่วมเวทีสัมมนาเรื่อง “ชาวนาพิจิตร จะใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อไม่มีโครงการรับจำนำข้าว” ที่ห้องประชุมโรงแรมพิจิตรพลาซ่า เมื่อเร็วๆ นี้
นายปราโมทย์ วานิชชนนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นพ่อค้ารับซื้อและส่งออกข้าวเปลือก ข้าวสาร มองเห็นว่า ปัญหาของชาวนาไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการอยู่ภายใต้นโยบายของนักการเมืองที่เอาเงินภาษีของราษฎรมาทำนโยบาย เพื่อหวังคะแนนเสียง โดยให้มีโครงการแทรกแซงราคาข้าว ประกันรายได้เกษตรกร โครงการรับจำนำข้าว ที่ทำเหมือนการเล่นการพนันไพ่เก้าเก
“ต่างคนต่างเอาเงินภาษีของพวกเรามาเกทับกันเพื่อชัยชนะในการบริหารประเทศ เมื่อชาวนามีรายได้จากจำนำข้าวก็ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ฝึกให้ชาวนาใช้เงินมือเติบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปุ๋ยเคมี การใช้บัตรเครดิต การมีรถคันแรก บ้านหลังแรก ซึ่งล้วนก่อหนี้ผูกพันให้ตั้งแต่ 5-20 ปี พอถึงวันนี้ไม่มีจำนำข้าว ชาวนาจึงรู้ว่าที่ผ่านมาเราอยู่กับความฝันไม่ใช่ความจริง”
ดังนั้น ทางออกในวันนี้รัฐบาลต้องใช้อำนาจอย่างมีคุณธรรม ชาวนาต้องลดค่าใช้จ่ายในการทำนา ต้องมีอาชีพเสริม และรวมกลุ่มทำนาขายข้าวสาร แต่ไม่ต้องไปหวังแข่งกับโรงสีรายใหญ่ที่ลงทุน 300-500 ล้านบาท นั่นคือ ผลิตข้าวถุงขาย
ซึ่งต้องแบ่งข้าวสารตามกลุ่มผู้บริโภค คือ 1.ตลาดคนกินข้าวเพื่ออิ่มท้อง ซึ่งทุกวันนี้ก็นำข้าวจากโครงการรับจำนำที่ชาวนาปลูกเพียงเพื่อจำนำไปส่งออกเพื่อขายยังประเทศด้อยพัฒนา และคนจนในแอฟริกา 2.ตลาดข้าวกินอร่อยแพงหน่อยไม่ว่า ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิที่คนชั้นกลาง หรือเศรษฐีชาวจีน ชาวฮ่องกงนิยมบริโภค 3.ตลาดข้าวที่กินอย่างมีคุณค่าเพื่อโภชนาการ หรือข้าวเกษตรอินทรีย์ที่ชาวนาพิจิตรทำอยู่ทุกวันนี้มาถูกทางแล้ว
นายปราโมทย์ กล่าวว่า ชาวนาต้องสร้างตลาดของตนเองอย่าหวังพึ่งโครงการของรัฐ หรือผลิตข้าวเปลือกขายโรงสี ต้องมีโรงสีชุมชน หรือรวมเป็นเครือข่ายในรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งทุกวันนี้มีโรงสี และผู้ทำข้าวถุงบางรายไปประมูลข้าวด้อยคุณภาพราคาถูกจากโครงการรับจำนำมาผสมกับข้าวใหม่บรรจุถุงขาย หากคนกินข้าวดมดูก็จะรู้ว่า “ข้าวไม่หอมมีกลิ่นเหม็นหืน” ดังนั้น ถ้าคนกินข้าวที่ฉลาดก็จะต้องหาวิธีมาซื้อข้าวจากมือชาวนาโดยตรง
นายปราโมทย์ ตอบคำถามเรื่องอนาคตราคาข้าวไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า ว่า ราคาข้าวยากที่จะขยับขึ้นเพราะปริมาณข้าวในโครงการรับจำนำ 18 ล้านตัน กดทับราคาไม่ให้ขยับขึ้น จึงขอแนะนำให้รัฐบาลภายใต้ คสช.ใช้กฎหมายพิเศษ ขาย-ส่งออกข้าวด้อยคุณภาพในโกดังแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งต้องขายถูกกว่าปกติอีก 20-30 เหรียญ และอาจขาดทุนอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ถ้าเก็บเอาไว้ยิ่งนานข้าวก็ยิ่งเน่าเพิ่มขึ้น และต้องแบกค่าเช่าโกดังอีกมหาศาล
ด้านนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า ปี 2558 ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มีการเปิดพรมแดนให้มีการซื้อขายสินค้าการเกษตรอย่างกว้างขวาง รวมถึงลดภาษีให้ค้าขายเสรี ซึ่งชาวนาไทยมีคู่แข่งที่น่ากลัว คือ เวียดนาม
โดยดูได้จากข้อมูลต้นทุนข้าวนาปรังในเขตพื้นที่ชลประทานปี 2556 พบว่า ชาวนาไทยมีต้นทุนในการทำนาปรังตันละ 8,711 บาท แต่เวียดนามมีทุนการทำนาตันละ 4,960 บาท ห่างกันถึง 3,740 บาท
“เมื่อเปิด AEC ข้าวเวียดนามทะลักเข้าไทยขายแค่ราคาตันละ 6,000 บาท ชาวนาไทยก็แพ้อย่างเห็นๆ จึงคาดการณ์ว่า ในปี 59/60 ชาวนาไทยจะเลิกทำนากันไม่น้อยกว่า 50% หากไม่เร่งปรับตัวให้สู้กับคู่แข่งได้”
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า พิจิตรได้ให้โครงการทำนาเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวพันธุ์ดีเป็นยุทธศาสตร์หลักของจังหวัด โดยขณะนี้ได้เร่งให้ความรู้ว่าชาวนาต้องมี 5 ลด คือ 1.ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ 2.ลดการใช้น้ำโดยทำนาปีเป็นหลักอาศัยน้ำฝนไม่เพิ่มต้นทุนด้วยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำทำนา 3.ลดการใช้ปุ๋ยเคมี 4.ลดการใช้สารเคมียาฆ่าแมลง หันมาทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพใช้เอง 5.ลดการใช้แรงงานด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เป็นการทุ่นแรง
รวมถึงต้องมอง 3 ช่องทาง คือ 1.ทำนาขายข้าวเปลือกให้โรงสีแบบลดต้นทุน 2.ทำนาโดยปลูกข้าวพันธุ์ดีแล้วขายเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งขณะนี้ชาวนาพิจิตรต้องการมากถึงปีละ 35,000 ตัน และยังต้องสั่งซื้อมาจากสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ชัยนาท 3.ชาวนาต้องเป็นนักขายควบคู่กับนักผลิตคิดหาวิธีปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์แล้วแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงขายให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการกินข้าวพันธุ์ดี อร่อย หุงหอมเหนียวนุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้รักสุขภาพ ซึ่งจะต้องเข้าถึงระบบค้าขายแบบพาณิชย์ดิจิตอล มีตลาดนัด มีจุดวางจำหน่ายสินค้า ส่งเสริมให้คนไทยซื้อข้าวสารเกษตรอินทรีย์ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิแดง รวมถึงการทำอาหารแปรรูปจากผลิตภัณฑ์ข้าวเป็นสินค้า OTOP หากทำได้เช่นนี้ก็สามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่ไม่มีโครงการรับจำนำข้าว
ด้าน น.ส.วราภรณ์ วรรณสำราญ อายุ 29 ปี อาชีพทำนาอยู่บ้านเลขที่ 5/10 หมู่ 6 บ้านหนองหูช้าง ต.บ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร เข้าโครงการ “วิชชาลัยชาวนา” ร่วมกับเพื่อนชาวนาอีก 100 คน แต่จบหลักสูตรมาเพียงแค่ 56 คน กล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดของชาวนา คือ “ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง”
น.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า ตนเรียนจบ ม.3 เคยเป็นเด็กเสิร์ฟ จากนั้นกลับมาทำงานโรงงานใกล้บ้าน พอมีวิกฤตเศรษฐกิจก็ถูกเลิกจ้าง แล้วมาช่วยพ่อแม่ทำนา พร้อมทั้งเข้ารับการอบรมอย่างสม่ำเสมอจึงได้รู้ว่า การทำนาต้องไม่เผาฟาง ต้องไม่ใช้สารเคมี และหัดเรียนรู้การใช้ธรรมชาติในการกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมถึงใช้พืชสมุนไพร และทำน้ำหมักชีวภาพจากจาวปลวกเป็นฮอร์โมนบำรุงต้นข้าว ใช้ความพยายามในการต่อสู้กับคนรอบข้างที่ใช้สารเคมี ในที่สุดพ่อแม่ก็ยอมรับว่า การทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ช่วยทำให้ลดต้นทุนการผลิต
ล่าสุด ตนทำนา 8 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข.49 ต้นข้าวอายุ 115 วัน ลงทุนไปแค่ 10,200 บาท หรือไร่ละ 1,275 บาท (ไม่รวมค่าแรงงาน 3 คน) นำข้าวเปลือกที่เกี่ยวได้ จำนวน 7.69 ตัน ไปขายโรงสีได้ตันละ 6,350 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วยังคงได้กำไร 38,555 บาท
“วันนี้ไม่มีโครงการรับจำนำข้าวเราก็ยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง เพราะเดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายของจังหวัดที่สนับสนุนติดอาวุธทางปัญญาให้ชาวนาพิจิตรคิดเป็น ทำเป็น ค้าขายเป็น ซึ่งในฤดูกาลที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ตนเองได้หันมาปลูกข้าวหอมมะลิแดง ถ้าเกี่ยวแล้วก็จะนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงขาย มั่นใจว่าจะมีกำไรมากกว่าเก่าแน่”