xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผาทำลายยาเสพติดของกลาง หนักกว่า 7 ตัน มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระนครศรีอยุธยา - สธ.เผาทำลายยาเสพติดของกลางหนักกว่า 7 ตัน มูลค่ากว่า 6,578 ล้านบาท เป็นยาบ้ามากที่สุดจำนวน 1,754 กิโลกรัม 19 ล้านเม็ด



วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ศ.ดร.ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมเป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางครั้งที่ 44 นำหลักรวมกว่า 7,646 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 6,578 ล้านบาท เป็นยาบ้ามากที่สุดจำนวน 1,754 กิโลกรัม 19 ล้านเม็ด โดยมีนายทูตานุทูต ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน

การเผาทำลายในวันนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2557 ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ประสงค์จะให้มีการทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางให้บ่อยครั้งขึ้น โดยยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายครั้งนี้ มาจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีกว่า 2,167 กิโลกรัม จาก 1,059 คดี รวมมูลค่ากว่า 6,565 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า น้ำหนักกว่า 1,754 กิโลกรัมหรือประมาณ 19 ล้านเม็ด มูลค่าประมาณ 5,847 ล้านบาท 2.ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 318 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 637 ล้านบาท 3.เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 86 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 68 ล้านบาท 4.โคคาอีน น้ำหนักกว่า 3 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท 5.เอ็กซ์ตาซี่ หรือ ยาอี น้ำหนัก 0.45 กิโลกรัม หรือประมาณ 1,840 เม็ด มูลค่าประมาณ 1.8 ล้านบาท 6. ฝิ่น 0.81 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 2.5 หมื่นบาท และอื่นๆ อีก

นอกจากนี้ ยังมีของกลางจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดกว่า 2,933 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท และจากจังหวัดอุบลราชธานีกว่า 2,546 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท รวมทั้งหมดน้ำหนักกว่า 7,646 กิโลกรัม มูลค่าทั้งหมดกว่า 6,578 ล้านบาท

ในการเผาทำลายจะใช้วิธีไพโรไลติก อินซิเนอะเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ซึ่งใช้อุณหภูมิสูงมากไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอนในระยะเวลาอันรวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายหลังเผาทำลายแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการสุ่มตัวอย่างเถ้าในเตาเผา เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่า มียาเสพติดเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งผลการตรวจหลังการเผาทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่พบสารเสพติดเหลืออยู่ในขี้เถ้าของกลางแต่อย่างใด

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ในการบำบัด ฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันประชาชน ซึ่งเป็นมาตรการที่ คสช.ให้ความสำคัญอย่างมากเพราะจะเป็นการชี้วัดว่าปัญหายาเสพติดของประเทศจะลดลงอย่างแท้จริงหรือไม่ เป็นมาตรการที่จะต้องพัฒนาระบบและเน้นคุณภาพอย่างจริงจัง

โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาโดยทันที ในโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ และติดตาม ดูแล ให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติทั้งในด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ ไม่หันกลับไปเสพสารเสพติดซ้ำอีก โดยประสานงานกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคประชาชนและองค์กรชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานดังกล่าวอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข เพิ่มความเชี่ยวชาญด้านยาเสพติด ทำหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในชุมชน รวมทั้งเร่งสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดเชิงรุก เช่น พัฒนาหลักสูตรเพิ่มทักษะพ่อแม่ในการดูแลลูกหลาน โครงการทูบีนัมเบอร์วันในสถานศึกษาทุกระดับ เป็นวัคซีนแก่กลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้รู้เท่าทันพิษภัยยาเสพติด

สำหรับผลการบำบัดผู้เสพสารเสพติดทุกชนิดในปีงบประมาณ 2557 นำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาได้ 359,399 คน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 แสนคน โดยบำบัดในระบบบังคับบำบัดมากที่สุด 211,647 คน รองลงมาคือระบบสมัครใจ 124,481 คน และในระบบต้องโทษ 23,261 คน ยาเสพติดหลักที่เข้ารับการบำบัดอันดับ 1 คือยาบ้าร้อยละ 70 รองลงมา ยาไอซ์ กัญชาและสารระเหย เป็นกลุ่มอายุระหว่าง 14-25 ปี ประมาณร้อยละ 50-55 ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง ว่างงาน และเกษตรกร

จากการวิเคราะห์กลุ่มผู้เข้ารับการบำบัด พบว่าเป็นรายใหม่ร้อยละ 65 ในจำนวนนี้เป็นผู้เสพติดยาแล้วร้อยละ 20 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 10 ซึ่งสูงขึ้นจากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 3 โดยร้อยละ 70 ใช้ยาเสพติดชนิดมากกว่า 1 ชนิด เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีเพียงร้อยละ 15 ส่งผลให้การบำบัดรักษามีความยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับในปีงบประมาณ 2558 ตั้งเป้าบำบัดและฟื้นฟูทั้ง 3 ระบบ 220,000 คน และให้ติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดในปี 2557 - 2558 จำนวน 230,000 คน โดยผลการบำบัดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 8 ธันวาคม 2557 มีผู้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด 1,287 แห่งทั่วประเทศ รวม 23,030 คน





กำลังโหลดความคิดเห็น