ประจวบคีรีขันธ์ - ชาวบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ ยืนกรานให้เคลื่อนย้ายช้างป่าที่ทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิตออกจากพื้นที่ กำนันตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ฮึ่ม อย่าให้คนหมดความอดทนจนบานปลายถึงขั้นทำร้ายช้าง ผู้ว่าฯ จี้อธิบดีดำเนินการด่วน
หลังจากเย็นวานนี้ (9 ธ.ค.) ช้างป่าที่หากินอยู่บริเวณบ้านป่าเด็ง ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และบ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำร้ายชาวบ้านป่าเด็งที่ขับรถจักรยานยนต์กลับจาก อ.หัวหิน กลับบ้านในหมู่บ้านป่าเด็ง จนนางพูลทรัพย์ นกน่วม อายุ 65 ปี เสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาลหัวหิน ส่วนนายฉลวย พูลทรัพย์ อายุ 67 ปี สามี ได้รับบาดเจ็บ
วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่ศูนย์อนุรักษ์ข้อมูลช้างป่าแก่งกระจาน ศูนย์โอทอปตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี สั่งการด่วนไปยัง นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประสานหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง ลงพื้นที่พูดคุยกับ นางสุนันทา พิมพ์ไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยสัตว์ใหญ่ นายมนูญ ทองแย้ม กำนันตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ นายทองใบ เจริญดง ผู้เชี่ยวชาญภาคสนาม สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย ตัวแทนชาวบ้าน
หลังจาก นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความห่วงใยต่อปัญหาการสูญเสียชีวิต และบาดเจ็บ จากกรณีช้างป่าในแนวถนนหัวหิน-ป่าละอู หลายครั้งที่ผ่านมา
นางสุนันทา กล่าวว่า ขอให้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เคลื่อนย้ายช้างป่าที่ทำร้ายชาวบ้านออกไป ส่วนจะเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ไหนเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หากปล่อยเอาไว้จะเกิดเหตุขึ้นต่อชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ได้ ซึ่งจะทำเรื่องของบประมาณติดตั้งไฟส่องสว่างในริมถนนสายดังกล่าว ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เพื่อให้การสัญจรช่วงกลางคืนมีความปลอดภัยมากขึ้น
ด้าน นายมนูญ กล่าวว่า อย่างไรก็ต้องเคลื่อนย้ายช้างป่าที่ทำร้ายชาวบ้านที่เสียชีวิตออกไป เพราะในฐานะที่เป็นตัวแทนชาวบ้านไม่มั่นใจในความปลอดภัย อีกทั้งช้างป่าที่ขึ้นมาเดินบนถนนบางคืนมีหลายสิบตัว ส่วนช่วงเช้า และเย็นบางวันมี 1-4 ตัว ระยะหลังสังเกตุได้ว่าช้างป่าเริ่มมีนิสัยดุร้ายมากขึ้น ช้างกับคนก็ต้องอยู่ร่วมกันได้ก็จริง แต่กรณีช้างป่าทำร้ายชาวบ้านจนถึงขึ้น ตนเห็นว่าก็ต้องมีมาตรการเคลื่อนย้ายออกไปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นอีก เนื่องจากชีวิตชาวบ้านก็มีค่า ครอบครัวเขาต้องสูญเสีย ไม่เกิดขึ้นกับใครไม่มีใครรู้ อย่าลืมว่าคนเรามีขีดจำกัด ตนไม่อยากให้เกิดปัญหาคนไปทำร้ายช้างขึ้นมาอีก จึงต้องยุติปัญหาก่อนจะลุกลาม
ขณะเดียวกัน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทั้ง 3 แห่ง ต่างยอมรับข้อเสนอของชาวบ้าน และรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย ตลอดจนเจ้าหน้าที่อุทยาน และชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัคร ยอมรับว่าพฤติกรรมของช้างป่าที่นี่เริ่มดุร้ายมากขึ้น ซึ่งหลังจากเกิดเหตุ อธิบดีกรมอุทยานฯ และผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันพบว่า ช้างป่ามีพฤติกรรมดุร้าย เกเร ก้าวร้าว และทำร้ายชาวบ้านอย่างน้อย 2 ตัว ซึ่งวันนี้มีการสนธิกำลังทหารชุดเฉพาะกิจจงอางศึก ตำรวจพลร่ม และอุทยาน จัดชุดปฏิบัติการลาดตระเวนดูพฤติกรรมเพื่อหาที่อยู่ที่ชัดเจน
สำหรับการประชุมร่วมกันครั้งนี้มีมาตรการเร่งด่วน คือ เพิ่มกำลังประจำจุดตรวจไทรเอน จุดตรวจหน่วยพิทักษ์หุบเต่า เข้าไปดูแลชี้แจงทำความเข้าใจต่อชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังช้างป่า เช่น ไม่ให้อาหารช้าง ไม่ส่งเสียงดัง กดแตร เร่งเครื่องใส่ รวมทั้งจะมีการเพิ่มกำลังลาดตระเวนตลอดเส้นทางห้วยสัตว์ใหญ่ 24 ชั่วโมง รวมทั้งจะผลักดันไม่ให้ขึ้นมาบนถนน โดยจะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นายกมล กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าลงพื้นแล้ว เพื่อจะหามาตรการแก้ไขทางวิชาการในการกำหนดรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน สำหรับกรณีที่ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการเคลื่อนย้ายช้างป่าที่ก่อเหตุออกไปนั้น จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าช้างตัวไหนมีพฤติกรรมก้าวร้าว และมีกี่ตัว ซึ่งตอนนี้เข้าใจว่าอย่างน้อย 2 ตัว รวมทั้งจะต้องศึกษาว่าจะเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ไหนอย่างไร ก่อปัญหาตามมาหรือไม่ เช่น ระยะทางไกลหรือไม่ กระทบต่อชุมชนใหม่หรือไม่ มีแหล่งอาหารเพียงพอหรือไม่ และจะเข้ากับช้างป่าถิ่นเดิมได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญต้องทำอย่างเป็นขั้นตอน
สำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิต วันพรุ่งนี้ (11 ธ.ค.) อธิบดีกรมอุทยานฯ จะได้นำเงิน 50,000 บาท มาให้นายสรัชชา ไปมอบให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตในงานสวดอภิธรรมศพ เนื่องจากครอบครัวดังกล่าวยากจน และวันที่ 15 ธันวาคม อธิบดีกรมอุทยานฯ จะมาติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วยตนเอง