ประจวบคีรีขันธ์ - เกิดฝนตกหนัก 3 วันติด ทำน้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลทะลักลงแม่น้ำปราณบุรี ที่ผ่านตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน ส่งผลฝาย สะพานข้ามแม่น้ำปราณฯ หลายแห่งขาด ชาวบ้านป่าละอู ไม่น้อยกว่า 200 คน และชาวบ้านตำบลบึงนคร 12 หมู่บ้านเข้าออกไม่ได้ ทหารศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก มูลนิธิกูภัยเพชรเกษม ต้องระดมกำลังเข้าไปเร่งสร้างสะพานไม้ไผ่ชั่วคราว
วันนี้ (8 ต.ค.) อิทธิพลจากลมมรสุมที่พาดผ่าน จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกิดฝนตกหนัก 2-3 วันที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในหลายอำเภอ ไม่ว่าจะเป็น อ.กุยบุรี อ.สามร้อยยอด และ อ.หัวหิน
โดยเฉพาะบริเวณรอบนอกในพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ทางทิศตะวันตกทำให้เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลทะลักลงแม่น้ำปราณบุรี ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านป่าละอูน้อย ประมาณ 200 คน ในพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ไม่สามารถเข้าออกหมู่บ้านได้ เนื่องจากฝายข้ามแม่น้ำปราณบุรี ได้รับความเสียหายเนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยวระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรี เพิ่มสูงขึ้น
ทำให้ นางสุนันทา พิมพ์ไทย นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ต้องประสานขอกำลังทหารจากศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยเพชรเกษม พร้อมเรือท้องแบนตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ เดินทางเข้าไปยังจุดดังกล่าว
พล.ต.นพดล ยิ้มถนอม ผู้บัญชาการศูนย์ทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ พร้อม พ.อ.อานนท์ เพชรคำ นำกำลังพลกว่า 80 นาย พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยเพชรเกษมอีก 40 นาย ทหารหน่วยฌพาะกิจ จงอางศึก ตชด. และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ เข้าตรวจสอบบริเวณหมู่บ้านป่าละอูน้อย และพบว่า น้ำป่าได้ทะลักทำให้ฝายขาด จึงตัดสินใจใช้เชือกโยงข้ามแม่น้ำปราณบุรี และให้เจ้าหน้าที่ทหารผูกรอกเกาะเชือกข้ามแม่น้ำปราณบุรีไปทีละคน ส่วนหนึ่งเข้าไปตรวจสอบในหมู่บ้าน และตัดไม้ไผ่สร้างสะพานชั่วคราว
ส่วนกำลังอีกส่วนหนึ่งช่วยกันนำเศษไม้ต่างๆ ที่ลอยมากับสายน้ำติดอยู่บริเวณท่อลอดเพื่อให้น้ำไม่ทะลัก และกัดเซาะ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง จึงจะสร้างสะพานไม้ไผ่ชั่วคราวเสร็จถึงแม้ฝนจะตกลงมาตลอดเวลาก็ตาม และให้ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ต้องการเข้าออกได้เป็นการชั่วคราว
พล.ต.นพดล ยิ้มถนอม ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือไม่สามารถที่จะนำเศษไม้ออกจากท่อลอดบริเวณฝายได้ทั้งหมด ซึ่งต้องดำลงไปแต่จะอันตรายมากจึงต้องหาวิธีใหม่ และเห็นว่าปัญหาหมู่บ้านแห่งนี้ต้องประสบปัญหาทุกปีในช่วงที่เกิดฝนตกหนักและน้ำป่าไหลทะลัก จึงให้คำแนะนำหน่วยงานทั้ง อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน และหน่วยงานเกี่ยวข้องควรจัดหางบประมาณในการสร้างสะพานที่แข็งแรง จะเป็นแนวทางที่ช่วยเหลือชาวบ้านได้ดีกว่า อีกทั้งยังเป็นห่วงพื้นที่ด้านล่างคือ ต.บึงนคร ซึ่งจะเป็นจุดที่จะต้องรับน้ำที่ลาดลงไป ซึ่งน่าจะประสบปัญหาเช่นกัน ซึ่งทราบว่าขณะนี้มวลน้ำจากด้านบนลงไปถึงแล้ว
นางสุนันทา พิมพ์ไทย นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ออกติดตามพื้นที่ในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ เนื่องจากบางจุดน้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ส่วนบางจุดที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าออกสัญจรได้เตรียมจัดเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าไปช่วยเหลือ และสั่งให้ทางเจ้าหน้าที่ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อปพร. ติดตามตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรี ตลอด 24 ชม. โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา น้ำป่าจากต้นแม่น้ำเพชร ได้เริ่มไหลเข้ามสมทบทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรี เพิ่มสูงขึ้นจากระดับเดิมถึง 2 เมตร
“สั่งปิดน้ำตกป่าละอู และอุทยานฯ กุยบุรี”
ขณะที่นายคนิต จันทร์อุปถัมภ์ ผู้ใหญ่บ้านป่าละอูน้อย กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านประสบปัญหาทุกปี จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝายที่ได้รับความเสียหายทุกครั้งในช่วงที่เกิดฝนตกหนัก เนื่องจากชาวบ้านในหมู่บ้านได้รับความเดือดร้อน จึงอยากให้แก้ไขปัญหาด้วยการสร้างสะพานถาวร
อย่างไรก็ตาม พล.ต.นพดล ยิ้มถนอม ผู้บัญชาการศูนย์ทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ ได้สั่งให้กำลังพลส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งททารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยเพชรเกษม พร้อมให้หน่วยงานเกี่ยวข้องจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในหมู่บ้านป่าละอูน้อย
ขณะเดียวกัน นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานฯ กุยบุรี ได้แจ้งว่าของดการให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานฯ กุยบุรี และโครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องจากพระราชดำริ และในส่วนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ประกาศปิดห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยมชมน้ำตกป่าละอู เป็นการชั่วคราวหลักเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ป่า และเกิดน้ำป่าไหลทะลักจากเทือกเขาตะนาวศรี และจากต้นของน้ำตกป่าละอูไหลมาสู่น้ำตก่าละอู ในชั้นต่างๆ จึงไม่สามารถเล่นน้ำได้ ซึ่งหากสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติเมื่อไหร่ ก็จะทำการแจ้งให้นักท่องเที่ยวได้ทราบต่อไป
“น้ำป่าไหลทะลักถึงตำบลบึงนคร”
ด้าน นายศึกฤทธิ์ เต็มฟอม นายก อบต.บึงนคร กล่าวว่า ขณะนี้น้ำไปจากด้านบนได้ไหลทะลักมาถึงพื้นทีตำบลบึงนครแล้ว โดยเฉพาะบริเวณทางข้ามแม่น้ำปราณบุรี หมู่ 5 ต.บึงนคร ขณะนี้การก่อสร้างสะพานยังไม่เสร็จ และปริมาณน้ำสูงขึ้นไหลเชี่ยวและมีสีแดงขุ่น ซึ่งรถยนต์ขนาดเล็กและรถบรรทุกไม่สามารถสัญจรเข้าออกได้ ประกอบกับมีฝนตกเป็นระยะ
แต่จากการตรวจสอบพื้นที่ยังไม่พบความเสียหายแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นสะพาน และฝาย แต่หากตลอดทั้งวัน และในคืนนี้มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มเติมก็มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์น้ำป่าที่จะไหลลงมาสมทบอีกระลอก ซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมออกประกาศเตือนชาวบ้านที่สัญจรข้ามฝายจุดต่างๆ หากกระแสน้ำไหลเชี่ยวก็ขอให้งดใช้ชั่วคราว เพราะหวั่นเกิดอันตราย และเกิดการสูญเสียเหมือนเหตุการณ์น้ำป่าทะลักปีที่แล้ว
“ฝนตกหนักส่งผลนาข้าวสามร้อยยอดจมใต้น้ำ 200 ไร่”
ทางด้าน นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม นายอำเภอสามร้อยยอด และนายพเยา มีกลิ่น ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงสามร้อยยอด ได้รับแจ้งจากเกษตรกรหมู่บ้านหนองคาง หมู่ที่ 3 ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า นาข้าวของชาวบ้านถูกน้ำไหลเข้าน้ำท่วมได้รับความเสียหาย หลังจากที่มีฝนตกต่อเนื่อง 2 วันติดๆ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้นาข้าวเสียหายกว่า 200 ไร่ ได้ลงสำรวจพื้นที่ และให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุกภัยในพื้นที่
ในส่วนของหมู่บ้านหนองคาง หมู่ที่ 3 ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีเกษตรกรปลูกข้าวเกือบทั้งหมู่บ้าน ในเนื้อที่ปลูกข้าวทั้งหมด 200 ไร่ ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ราบต่ำ และเป็นแหล่งรับน้ำ เมื่อถึงช่วงมรสุมที่จะมีฝนตกติดต่อกันหลายวันทำให้น้ำเริ่มมากขึ้น
น.ส.น้ำอ้อย เทียมเทศ อยู่บ้านเลขที่ 29/5 หมู่ 3 ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายเช่นกัน กล่าวว่า ในพื้นที่หมู่ 3 แห่งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ในส่วนของตนเองมีอยู่ 20 ไร่ ซึ่งได้รับความเสียหายทั้งหมดเช่นกัน
นอกจากนี้ ที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ซึ่งตนและชาวนาทุกคนต่างก็ต้องยอมรับสภาพ ซึ่งเกษตรกรทั้งหมดได้ขึ้นทะเบียนชาวนาไว้กับเกษตรอำเภอสามร้อยยอด เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ ก็ต้องรอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐต่อไป และยังคงยืนยันที่จะปลูกข้าวต่อไป
แต่ในปีต่อไปอาจจะขยับเวลาในการปลูกข้าวให้เร็วขึ้น แต่ก็หวั่นว่าจะเจอกับอากาศที่หนาวทำให้ต้นข้าวไม่ออกรวง จึงจำเป็นต้องเสี่ยงปลูกในช่วงนาปีนี้ ถ้าโชคดีน้ำน้อยก็ยังมีความหวังว่าจะได้รับผลกำไรจากการเก็บเกี่ยวบ้าง แต่ถ้ายังเจอสภาพที่น้ำยังคงท่วมอยู่ก็ต้องอดทน และสู้ต่อไป