กาฬสินธุ์ - ชาวบ้านจี้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียบางนาแป้งมัน ระบุทำไม่ได้ให้ปิดกิจการ หลังส่งกลิ่นเหม็น ชาวบ้านสูดดมฝุ่นกำมะถันนานหลายสิบปี ขณะที่อุตฯ กาฬสินธุ์สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำ ลั่นหากพบเกินค่ามาตรฐานพร้อมดำเนินคดี ด้านโรงงานยันน้ำที่ปล่อยผ่านการบำบัดแล้ว
จากกรณีชาวบ้านหัวขัว ม.10 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กว่า 100 คน รวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งระงับการขยายโรงงานของบริษัทบางนาแป้งมันจำกัด หรือโรงงานบางนาแป้งมัน โดยระบุว่าทางโรงงานกำลังดำเนินการขยายโรงงานจนเข้ามาติดกับชุมชน โดยไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ หรือผ่านประชาคมของชาวบ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนเดือดร้อน เนื่องจากต้องสูดดมกลิ่นเหม็นของแป้งมัน น้ำที่เน่าเสีย และฝุ่นกำมะถันที่เกิดจากโรงงาน ทำให้หลายคนล้มป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ พร้อมมีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำพาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ใช้อุปโภคบริโภค โดยที่ไม่ผ่านการบำบัดตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ระบบนิเวศของน้ำบริเวณดังกล่าวเน่าเสีย สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่รอบบริเวณตายจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านอย่างมาก
ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (3 ธ.ค.) นายวิรัตน์ ชูมงคล อุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ สั่งการให้นายชนะศักดิ์ ทองผนึก เจ้าพนักงานตรวจโรงงานชำนาญงาน พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำเสียที่บริษัทบางนาแป้งมันจำกัดปล่อยลงสู่แม่น้ำพาน บริเวณหลังโรงงาน โดยพบว่าเจ้าหน้าที่โรงงานพยายามอุดท่อไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำ หลังถูกชาวบ้านร้องเรียน แต่จากการตรวจสอบยังคงพบว่าน้ำเสียยังคงไหลลงสู่แม่น้ำพานอยู่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่จึงสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำที่ถูกปล่อยออกมา สุ่มเก็บน้ำในบ่อบำบัด พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำพาน เพื่อนำไปเปรียบเทียบและส่งตัวอย่างไปตรวจยังศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น
ทั้งนี้ เพื่อหาค่าความเป็นกรด เป็นด่าง ค่า BOD ค่า COD ค่า SS ค่า TDS และค่าTKN โดยใช้เวลาตรวจ 2 สัปดาห์ ซึ่งหากพบค่าเกินมาตรฐานที่กรมอุตสาหกรรมโรงงานกำหนดก็จะดำเนินการตามกฎหมายกับโรงงานทันที
นายวิรัตน์ ชูมงคล อุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มีการออกสุ่มตรวจเก็บตัวอย่างการปล่อยน้ำเสียของบริษัทบางนาแป้งมันจำกัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดหลังมีชาวบ้านร้องเรียนไปทาง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่จึงต้องลงพื้นที่สุ่มเก็บอีกครั้งเพื่อส่งไปตรวจ ทั้งนี้ หากผลตรวจออกมาแล้วพบว่ามีค่าเกินมาตรฐานที่กรมอุตสาหกรรมโรงงานกำหนดก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที เพราะถือว่าผู้ประกอบการเอาเปรียบชาวบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐยอมไม่ได้เด็ดขาด ส่วนกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนว่าทางโรงงานกำลังดำเนินการขยายโรงงานนั้น เบื้องต้นสำนักงานอุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ ยังไม่รับเรื่องการขออนุญาตจากผู้ประกอบการ แต่ทราบเบื้องต้นจากโรงงานว่าไม่ได้เป็นการขยาย แต่เป็นการก่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ที่ทันสมัยเท่านั้น ซึ่งกำลังผลิตของเครื่องจักรโรงงานยังคงเท่าเดิมตามที่ขออนุญาตไว้คือ 7,679 แรงม้า ส่วนมีการก่อสร้างอาคารขึ้นก่อนนั้นเป็นเรื่องของเทศบาลตำบลอุ่มเม่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แต่ถ้าหากเป็นการขยายโรงงานและเพิ่มกำลังผลิตขึ้นจริง ทางโรงงานจะต้องขออนุญาตและทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้าน
ด้านนายธราชัย เต็มพร้อม กรรมการผู้จัดการ บริษัทบางนาแป้งมัน จำกัด กล่าวว่า ยอมรับว่าทางโรงงานได้ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำพานจริง แต่ก็ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผ่านการบำบัดน้ำเสียแล้ว ซึ่งต่อไปทางโรงงานจะปรับปรุงเอาน้ำเสียไปใช้ในการปลูกมันสำปะหลังและหญ้าแทนการปล่อยลงสู่แม่น้ำธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
ส่วนกรณีที่ชาวบ้านระบุว่ามีการขยายโรงงาน โดยไม่ทำประชาพิจารณ์นั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด เนื่องจากเป็นเพียงการก่อสร้างอาคารแทนหลังเดิมที่ใช้งานมากว่า 40 ปี เพื่อติดตั้งเครื่องจักรใหม่เท่านั้น
ขณะที่นายบรรพต สรสันต์ อายุ 31 ปี ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า แม้ทางโรงงานจะอ้างว่าเป็นการสร้างอาคารใหม่และติดตั้งเครื่องจักรใหม่ ไม่ได้เป็นการขยายโรงงาน แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นการก่อสร้างและตั้งเครื่องจักร โดยขยายอาคารออกมาจนใกล้ติดกับหมู่บ้าน จึงต้องการให้ยกเลิก อีกทั้งบ่อบำบัดน้ำเสียก็ติดกับชุมชน ชาวบ้านต้องอดทนสูดดมกลิ่นเหม็นของแป้งมัน สูดดมกลิ่นน้ำเน่าเสีย และสูดดมฝุ่นที่มีกำมะถันของบริษัทบางนาแป้งมัน จำกัด มาหลายสิบปี ปัจจุบันยังคงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา
ดังนั้น ชาวบ้านจึงต้องการให้ทางโรงงานดำเนินการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ส่งกลิ่นและเกิดมลภาวะฝุ่น และที่สำคัญอย่าปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำธรรมชาติ ซึ่งหากโรงงานทำไม่ได้ก็ควรที่จะปิดและย้ายไปตั้งอยู่ที่อื่นที่ห่างจากชุมชน