กาฬสินธุ์ - อุตฯ กาฬสินธุ์ตรวจเข้มระบบบำบัดน้ำเสีย บริษัท บางนาแป้งมันกาฬสินธุ์ ระบุโรงงานมีใบอนุญาตปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำพาน แต่ต้องได้รับการบำบัด ลั่นหากผลตรวจน้ำเกินค่ามาตรฐานต้องดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
จากกรณีที่ชาวบ้านหัวขัว ม.10 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กว่า 100 คน รวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งระงับการขยายโรงงานของบริษัทบางนาแป้งมัน จำกัด หรือโรงงานบางนาแป้งมัน โดยระบุว่าทางโรงงานกำลังดำเนินการขยายโรงงานจนเข้ามาติดกับชุมชน โดยไม่ผ่านการประชาพิจารณ์
ส่งผลให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนเดือดร้อน เนื่องจากต้องสูดดมกลิ่นเหม็นของแป้งมัน น้ำที่เน่าเสีย และฝุ่นกำมะถัน พร้อมมีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำพาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคโดยที่ไม่ผ่านการบำบัด ส่งผลให้ระบบนิเวศของน้ำบริเวณดังกล่าวเน่าเสีย สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านอย่างมาก
กระทั่งเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่เข้าสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำที่ถูกปล่อยออกจากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน พร้อมส่งตัวอย่างไปตรวจยังศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น เพื่อหาค่าเกินมาตรฐานที่กำหนด
ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (8 ธ.ค.) นายวิรัตน์ ชูมงคล อุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ นายชนะศักดิ์ ทองผนึก เจ้าพนักงานตรวจโรงงานชำนาญงาน พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านเข้าตรวจสอบระบบบำบัดและบ่อบำบัดน้ำเสียของบริษัทบางนาแป้งมัน จำกัด ที่ชาวบ้านระบุว่าถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำพาน บริเวณหลังโรงงาน
จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานดังกล่าวมีบ่อบำบัดน้ำเสียที่ใช้พักและบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 10 บ่อ โดยน้ำที่ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำพานออกจากบ่อที่ 10 ซึ่งเป็นบ่อสุดท้าย ปัจจุบันยังคงมีการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำพานอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ เนื่องจากทางโรงงานมีใบอนุญาตให้ปล่อยได้ แต่ต้องมีการบำบัดและมีค่าไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจตัวอย่างน้ำที่ส่งไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ใช้เวลา 10-15 วัน ซึ่งหากผลตรวจออกมาพบว่ามีค่าเกินมาตรฐานก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที แม้จะมีใบอนุญาตก็ตาม
นายวิรัตน์ ชูมงคล อุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทบางนาแป้งมัน จำกัดมีใบอนุญาตปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำพานมาตั้งแต่ปี 2519 แต่จะต้องอยู่ในเงื่อนไข คือจะต้องมีการบำบัดและมีค่าต่างๆ ไม่เกินมาตรฐานตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด ส่วนระบบบำบัดและบ่อบำบัดน้ำเสียของทางโรงงานพบว่ามีทั้งหมด 10 บ่อ
น้ำที่ถูกปล่อยออกไปลงสู่แม่น้ำพานคือบ่อที่ 10 ซึ่งเป็นบ่อสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้ว ทั้งนี้ แม้ทางโรงงานจะมีการบำบัดน้ำเสียแล้วค่อยปล่อยลงไป แต่จะต้องรอผลการตรวจตัวอย่างน้ำที่เจ้าหน้าที่เก็บไปตรวจ
ทั้งนี้ หากผลตรวจออกมาพบว่ามีค่าเกินมาตรฐานทางสำนักงานอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับโรงงานทันที ซึ่งในอนาคตทางโรงงานจะต้องร่วมกับชาวบ้านหาทางออกแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อไม่ให้มีผลกระทบเกิดขึ้น
ส่วนกรณีที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านและระบุว่าบริษัทบางนาแป้งมัน จำกัด กำลังขยายโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรใหม่โดยไม่ผ่านประชาคมของชาวบ้านนั้น เบื้องต้นสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ยังไม่ได้รับเรื่องการขออนุญาตหรือเรื่องใดๆ เกี่ยวกับการขยายโรงงาน ปัจจุบันทราบเพียงว่ากำลังมีการก่อสร้างอาคารขึ้นมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นก็เป็นอำนาจของเทศบาลตำบลอุ่มเม่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
ด้านนางมนัฏยา สรสันต์ อายุ 55 ปี ชาวบ้านหัวขัว กล่าวว่า แม้ทางโรงงานและเจ้าหน้าที่จะระบุว่าน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานลงแม่น้ำพานจะผ่านการบำบัดน้ำเสียแล้ว แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้โรงงานปล่อยลงสู่แม่น้ำธรรมชาติ ควรที่จะปรับปรุงและบริหารจัดการใหม่เพื่อรักษาระบบนิเวศ
ทั้งนี้ ชาวบ้านยังคงยืนยันที่จะร่วมกันคัดค้านการขยายโรงงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นการขยายออกมาจนใกล้ติดกับหมู่บ้าน
จึงต้องการให้ยกเลิกเพราะชาวบ้านต้องเดือดร้อนจากการสูดดมกลิ่นเหม็นของแป้งมัน สูดดมกลิ่นน้ำเน่าเสีย และสูดดมฝุ่นที่มีกำมะถันของบริษัทบางนาแป้งมัน จำกัด มากขึ้น