xs
xsm
sm
md
lg

ทุนไทยเดินหน้าเพิ่ม “เรือไทย” ในน้ำโขง ตั้งเป้าต่อให้ได้ 5 ลำรับท่องเที่ยวเออีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กลุ่มทุนท่องเที่ยวเดินหน้าเริ่มเรือสัญชาติไทยวิ่งให้บริการในแม่น้ำโขงลำที่ 3 พร้อมตั้งเป้าต่อเพิ่มให้ได้ 5 ลำ รองรับเปิดประชาคมฯ อาเซียน หลังปักหลักลงทุนในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจมานานร่วม 10 ปี

น.ส.ผกามาศ เวียร์ร่า ประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-พม่า จ.เชียงราย รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย, ประธานหอการค้า อ.แม่สาย และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทแม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเดินเรือท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง ได้นำคณะไปรับเรือท่องเที่ยวลำใหม่ในแม่น้ำโขง ชื่อเรือกาสะลองคำ 2 โดยมี พ.อ. Yao Hui ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เป็นประธานปล่อยเรือจากท่าเรือเชียงรุ้งหรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สป.จีน เมื่อเร็วๆ นี้

น.ส.ผกายมาศกล่าวว่า บริษัทได้ต่อเรือกาสะลอง 2 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่จะเดินทางระหว่างประเทศไทยกับจีนตอนใต้เพิ่มมากขึ้น หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปี 2558 เป็นต้นไป โดยคาดว่าการใช้ช่องเดินทางหลายด้านทั้งทางบกและทางแม่น้ำโขงจะคึกคักมากขึ้น เพราะลำพังเพียงเรือกาสะลอง 1 กับเรือแม่โขงเดลต้า ขนาด 120 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเรือสัญชาติไทย 2 ลำแรกของบริษัทอาจไม่พอรองรับ

“อย่างไรก็ตาม แค่ 3 ลำก็ยังถือว่าน้อยอยู่ บริษัทวางแผนไว้ว่าจะต่อเรือแล้วจดทะเบียนเป็นสัญชาติไทยมาแล่นในแม่น้ำโขงถึง 5 ลำ นอกจากนี้ยังมีบริษัทจีนอีก 2-3 บริษัทที่ประสงค์จะเดินเรือและทำงานร่วมกับเราอีก จากเดิมที่มีเพียงเรือสัญชาติจีน และ สปป.ลาว ที่ให้บริการในแม่น้ำโขง” น.ส.ผกายมาศกล่าว

โดยเรือกาสะลอง 2 เรือสัญชาติไทยในแม่น้ำโขงลำล่าสุดได้รับการออกแบบเป็นเรือทันสมัย กว้าง 5.20 เมตร ยาว 26.80 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 116 คน ใช้งบประมาณโดยรวมประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนเรือกาสะลอง 1 เป็นเรือขนาด 2 ชั้น กว้าง 4.10 เมตร ยาว 24.0 เมตร กินน้ำลึก 0.70 เมตร บรรทุกผู้โดยสารได้จำนวน 80 คน ใช้เครื่องยนต์ขนาด 670 แรงม้า 2 เครื่องยนต์ พร้อมอุปกรณ์ความสะดวกและความบันเทิง ขณะที่เรือแม่โขงเดลต้า เรือสัญชาติไทยลำแรก เป็นเรือ 120 ที่นั่ง กว้าง 5 เมตร ยาว 41 เมตร ที่ต่อเสร็จตั้งแต่ปี 52

น.ส.ผกายมาศกล่าวอีกว่า เรามีแผนงานให้บริการลูกค้าเบื้องต้นว่า เรือจะออกเดินทางจากท่าเรือ อ.เชียงแสน ของไทย ไปยังท่าเรือกวนเหล่ย เมืองท่าหน้าด่านของจีน เป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี และเดินทางกลับประเทศไทยในวันอาทิตย์ โดยคิดค่าบริการขาไป 700 หยวน และขากลับ 800 หยวน โดยบริษัทมีความมั่นใจในความปลอดภัยเนื่องจากปัจจุบันมีเรือตรวจตราดูแลความปลอดภัยในแม่น้ำโขงของกองกำลัง 4 ชาติ คือ ไทย สปป.ลาว พม่า และจีน อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ “แม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเจนซี่” ได้เปิดให้บริการเดินเรือโดยสารในลำน้ำโขง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 ในเส้นทางระหว่างเชียงแสน-สิบสองปันนา กับเชียงของ-หลวงพระบาง โดยระยะแรกได้ใช้เรือสัญชาติจีนให้บริการ 4 ลำ ประกอบด้วย เรือนกยูงทอง เป็นเรือท่องเที่ยวที่มีห้องพักอยู่ในตัว จำนวน 22 ห้อง สามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 76 คน และสามารถขยายได้ถึง 130 คน หากผู้โดยสารไม่พักบนเรือ, เรือสามเหลี่ยม ทองคำ 8 ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ 68 คน กับเรือ “เทียนต๋า” 1 และ 2 ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ลำละ 48 คน

ต่อมาบริษัทจึงได้ลงทุนต่อเรือและจดทะเบียนเป็นเรือสัญชาติไทย เพื่อนำมาให้บริการนำเที่ยวในแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ บริษัทแม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ ยังเป็นผู้บริหารร้านสินค้าปลอดภาษีในเมืองท่าขี้เหล็กของพม่า 2 สาขา คือ Tachileik Inter Shop Duty Free กับ Allure Duty Free Shop และร้านค้าปลอดภาษี ในเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของลาว ในชื่อ Lao Duty Free Shop รวมถึงร้าน Chiang Rai Intershop ในสนามบินนานาชาติเชียงราย

ทั้งนี้ น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า และบริษัทแม่โขงเดลต้าฯ ถือเป็นทุนไทยรายล่าสุดที่อาจหาญเข้ามาลงทุนในลำน้ำโขง ซึ่งในอดีตมีคนที่เจ็บปวดกับที่นี่ไปแล้วหลายราย เช่น

- กลุ่ม MP กรุ๊ป ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในการลงทุนทำอู่ต่อเรือที่เชียงแสน-ห้างสรรพสินค้าห้าเชียงพลาซ่า ได้รับใบอนุญาตเดินเรือท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง รวมมูลค่าการลงทุนหลายพันล้านบาท ตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน

- กลุ่ม “ตะวันอีสาน” ที่เข้ามาลงทุนต่อจากกลุ่ม MP ของวัฒนา ทั้งเช่าพื้นที่ห้าเชียงพลาซ่า เปิดเดินเรือนำเที่ยวในแม่น้ำโขงระหว่างเชียงแสน-เชียงรุ่ง สิบสองปันนา เปิดห้างสรรพสินค้าที่เมืองเชียงรุ่ง เพื่อใช้เป็นโชว์รูมสินค้าจากประเทศภาคีสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เพื่อทำตลาดในจีนตอนใต้ สุดท้ายก็ต้องม้วนเสื่อกลับเช่นกัน

- กลุ่ม “มณีต้าหมิง” ที่เข้าไปลงทุนเปิดศูนย์กระจายสินค้าในมณฑลตอนใต้ของจีน รวมทั้งเปิดเดินเรือ “คอนเทนเนอร์” ระหว่างเชียงแสน-เชียงรุ่ง เพื่อขนส่งสินค้าทางตู้ผ่านมาแม่น้ำโขง แต่ก็ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัว แม้ว่าจีนจะพัฒนาท่าเรือ กวนเหล่ย เมืองเชียงรุ่ง ให้เป็นท่าเรือสำหรับการขนส่งทางตู้ พร้อมกับลงทุนทำทางด่วนจากท่าเรือกวนเหล่ย-เชียงรุ่ง แล้วก็ตาม

มีเพียงกลุ่มทุนท่องเที่ยวท้องถิ่นเชียงรายที่ยังคงทำทัวร์ผ่านแม่น้ำโขงมาถึงปัจจุบัน แต่เป็นลักษณะการเช่าเรือสัญชาติจีนเป็นครั้งคราวตามกรุ๊ปทัวร์ที่มีเข้ามา ไม่เสี่ยงที่จะเข้าไปร่วมทุน หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวรแต่อย่างใด





กำลังโหลดความคิดเห็น