เชียงราย - การค้าชายแดนเชียงรายกับพม่า-ลาว-จีนตอนใต้ ขยายตัวเพิ่มไม่หยุด 3 ไตรมาสแรกปีนี้โตเพิ่ม 12.06% คาดสิ้นปียอดรวมอาจทะลุ 4 หมื่นล้าน ชี้อนาคตจีนต้องการสินค้าแช่แข็งทั้งกระบือ ไก่ หมู เพิ่มอีกเพียบ ล่าสุดมีทุนจีนดอดเจรจาขอตั้งคลังสินค้ารองรับแล้ว
นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า สถิติการค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย กับ 3 ประเทศ คือ พม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ 9 เดือนแรก คือตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 57 มีมูลค่ารวมกว่า 30,467.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 27,187.98 ล้านบาท ถึงร้อยละ 12.06 เป็นมูลค่าส่งออก 27,018.54 ล้านบาท และนำเข้า 3,448.71 ล้านบาท
โดยการค้ากับพม่าขยายตัวกว่าร้อยละ 19.62 สินค้าส่งออกที่สำคัญคือสินค้าเบ็ดเตล็ด สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าเกษตร วัสดุก่อสร้าง และเครื่องดื่มน้ำดื่ม ส่วนสินค้านำเข้า คือไม้ซุงสัก ผลส้มสด แร่แมงกานีส ใบชา เปลือกก่อ และทานาคา
ส่วนการค้ากับ สปป.ลาว ขยายตัวร้อยละ 6.67 สินค้าส่งออกที่สำคัญคือข้าวสาร ผลไม้สด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะและรถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนการนำเข้า ได้แก่ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ใบยาสูบแห้ง ไม้แปรรูป สินค้าเกษตร ลูกเต๋า และลูกเดือย
ขณะที่การค้ากับจีนตอนใต้ขยายตัวร้อยละ 6.32 สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค ปลากะตักแห้ง อัลมอนด์ แมคคาเดเมีย ถั่ววอลนัทแห้ง ผลไม้สด ดอกกล้วยไม้ ยางพารา และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากจีน ได้แก่ พืชผักผลไม้ ดอกไม้ไม้ประดับ ก๊าซอาร์กอน และสินค้าอุปโภคบริโภค
นายเฉลิมพลระบุว่า สาเหตุที่มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าไทยยังเป็นที่นิยม และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองชายแดน เกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าในอำเภอชายแดนมากขึ้น มีการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดน ฯลฯ
นายเฉลิมพลบอกอีกว่า และถ้าดูจากสถิติมูลค่าการค้าในปี 2556 ที่มีอยู่ 38,386.99 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 34,313.37 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 4,073.62 ล้านบาทแล้ว ปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนเชียงรายอาจจะเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทได้ เพราะเพียงแค่ 3 ไตรมาส หรือ 9 เดือนก็มีการค้าเกิดขึ้น 3 หมื่นกว่าล้านแล้ว อีกทั้งขณะนี้การค้ายังคงคึกคักอย่างต่อเนื่องทั้งทางบกและทางเรือในแม่น้ำโขง ผ่านด่านพรมแดน อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ
พาณิชย์จังหวัดเชียงรายยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ในอนาคตการค้าการลงทุนในพม่าน่าสนใจมาก เพราะมีการเปิดประเทศมากขึ้น ขณะที่มีทรัพยากรมหาศาล โดยเฉพาะที่ตลาดตองยี เมืองหลวงของรัฐฉานพบว่ามีสินค้าไทยในตลาดถึงร้อยละ 80 และห่างจากตองยีไปประมาณ 25 กิโลเมตรเป็นทะเลสาบอินเล สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก เหมาะอย่างยิ่งที่ จ.ชียงรายจะยกระดับความสัมพันธ์เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองตองจี
ด้าน สปป.ลาว โดยเฉพาะด้าน อ.เชียงของ เมื่อมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมกับ สปป.ลาว ได้ทำให้ด่านเก่าซบเซาลงนั้น ยังมีโอกาสพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างเชียงของ-ห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อพัฒนาเป็นเมืองเก่าควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองเชียงของที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งด้วย
ส่วนการค้ากับจีน พบว่ามณฑลยูนนานที่ใกล้กับ จ.เชียงราย มีประชากรกว่า 43 ล้านคน ปัจจุบันยังต้องการสินค้าประเภทกระบือแช่แข็งจากอินเดีย ไก่แช่แข็งจากไต้หวัน ฯลฯ ซึ่งมีการส่งผ่านทางท่าเรือแหลมฉบังขึ้นคอนเทนเนอร์มาลงที่ท่าเรือเชียงแสน เพื่อส่งต่อไปยังจีนตอนใต้ ขณะที่สุกรมีชีวิตจากฟาร์มใน จ.แพร่ ก็เริ่มส่งออกไปยังท่าเรือกวนเหล่ยของจีนเป็นจำนวนมาก ฯลฯ เพราะความต้องการบริโภคในจีนสูง ซึ่งล่าสุดก็มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาเจรจาขอจัดตั้งคลังสินค้าแช่เย็นแช่แข็งแล้วด้วย