xs
xsm
sm
md
lg

แนะดึงเพื่อนบ้านร่วมสังคายนาค้าน้ำมันกลางโขง ล้อมคอกไฟไหม้เรือวอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - อดีตทูตพาณิชย์ไทยในลาวชี้ไฟไหม้เรือน้ำมันกลางน้ำโขงเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เหตุไทยไร้ปั๊มริมฝั่ง-เรือเติมน้ำมันกลางน้ำ ทั้งที่ขนน้ำมันไทยขายกลางน้ำกันเป็นล่ำเป็นสันมานาน จนเพื่อนบ้านทำแทนแต่มาตรฐานต่างกันทำเกิดเหตุ แนะต้องดึงชาติลุ่มน้ำโขงร่วมตั้งกฎก่อนเข้าเออีซี

วันนี้ (11 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำมันในแม่น้ำโขง ที่บรรทุกน้ำมันเบนซินทั้งหมด 42,000 ลิตร ถูกไฟไหม้วอดคาท่าเรือห้าเชียง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยเรือรักษาความสงบในแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ที่ควบคุมดูแลพื้นที่อยู่ เตรียมที่จะผลักดันให้มีการจัดระเบียบเรือน้ำมันในแม่น้ำโขงใหม่อีกครั้งนั้น

นายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นอดีตอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำ สปป.ลาว กล่าวว่า การส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงจากชายแดนด้าน จ.เชียงราย ไปยังพม่า สปป.ลาว และมณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ มีอย่างต่อเนื่อง และทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งทางบก ทางน้ำในแม่น้ำโขง

กรณีที่เกิดเพลิงไหม้เรือดังกล่าวถือเป็นกรณีศึกษาที่ได้วิเคราะห์กันมานานแล้ว และไม่ควรมองเป็นความบกพร่องของเรืออย่างเดียว เพราะไทยเราเองก็ควรต้องปรับปรุงภายในของเราเอง เนื่องจากปัญหาเกิดจากท่าเรือฝั่งไทยไม่เปิดให้บริการปั๊มเติมน้ำมันริมฝั่ง หรือไม่มีเรือน้ำมันสัญชาติไทยเลย ทำให้เรือของประเทศเพื่อนบ้านมาเปิดบริการ จนเกิดปัญหาขึ้น

“เราจะโทษประเทศเพื่อนบ้านฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงต้องมีการปรับปรุงภายในของเราและเจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดระเบียบร่วมกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกต่อไป”

นายเฉลิมพลกล่าวอีกว่า ในปี 2558-2559 ไทยและเพื่อนบ้านจะต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี อย่างเต็มตัว ซึ่งจะทำให้กำแพงทางการค้าต่างๆ ถูกทลายลง ตัวอย่างเรือในแม่น้ำโขง ขณะนี้ส่วนใหญ่มักจะจดทะเบียนเป็นสัญชาติจีน สปป.ลาว และพม่า ไม่จดทะเบียนเป็นเรือไทย เพื่อความสะดวกในการเข้าเทียบท่าต่างๆ ตลอดรายทาง ทำให้เรือเหล่านี้ต้องทำตามระเบียบของประเทศเพื่อนบ้าน

บางครั้งมาตรฐานไม่ตรงกับท่าเรือไทย แต่หลังเข้าสู่เออีซีแล้วเรือจะมีเสรีในการเข้าฝั่งมากขึ้น ดังนั้นเวทีเจรจาระหว่างกันจึงสำคัญที่สุด

ส่วนการจัดระเบียบเพื่อป้องกันภัยในระยะสั้นนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในระยะยาวอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์เพียงไม่กี่รายได้เช่นกัน

“ระบบการค้าชายแดนด้านเชียงรายยังคงยึดติดกับตัวบุคคล ก่อให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ที่ใช้ระบบการค้าแบบเก่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็มักจะแก้ไขกันเป็นเรื่องๆ ไป ไม่มีแนวทางแก้ทั้งระบบ แต่หลังเข้าสู่เออีซีสภาพจะเปลี่ยนไป โดยจะเข้าสู่ระบบที่เป็นทางการมากขึ้น หลายฝ่ายทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะมีเวทีในการเจรจาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น” นายเฉลิมพลกล่าว

แหล่งข่าวชายแดนระบุเพิ่มเติมว่า การที่ไม่มีปั๊มน้ำมัน หรือเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงติดฝั่งไทย เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเปิดกิจการดังกล่าว กิจการน้ำมันเชื้อเพลิงในแม่น้ำโขงต้องขึ้นอยู่กับเรือบรรทุกสัญชาติต่างๆ ที่ลำลอยอยู่ตามท่าเรือต่างๆ ดังกล่าว

เรือให้บริการบรรทุกน้ำมันในแม่น้ำโขงมีเป็นจำนวนมาก บางลำขนน้ำมันจากฝั่งไทย ไปลอยลำคอยเติมให้เรือสินค้าตั้งแต่ท่าเรือบ้านศรีบุญเรือง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตอนเหนือของสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไป-เมืองสบหรวย ฝั่งพม่า ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำประมาณ 200 กิโลเมตร ไปจนถึงท่าเรือเมืองกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของจีนตอนใต้ด้วย

สำหรับในปี 2556 ที่ผ่านมาสถิติเรือสินค้าในแม่น้ำโขงที่เข้าเทียบท่า อ.เชียงแสน มีกว่า 12,734 ลำ เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีแค่ 7,688 ลำ ขณะที่ในปี 2557 พบว่าในเดือน ม.ค. มีจำนวน 1,005 ลำ เดือน ก.พ. จำนวน 835 ลำ เดือน มี.ค. จำนวน 1,045 ลำ เดือน เม.ย. จำนวน 955 ลำ เดือน พ.ค. จำนวน 1,036 ลำ เดือน มิ.ย. จำนวน 812 ลำ เดือน ก.ค. จำนวน 999 ลำ เดือน ส.ค. จำนวน 960 ลำ และเดือน ก.ย. จำนวน 1,063 ลำ รวมระยะเวลา 9 เดือนมีจำนวน 8,710 ลำ




กำลังโหลดความคิดเห็น