xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมอุ๋ย" ขึ้นเวทีหอไทย แฉ ตร.-นักการเมือง-สื่อเลว คือปัญหาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - “หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร” ขึ้นเวทีปิดประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วไทยครั้งที่ 32 ชี้วันนี้ “รัฐ” ยังเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจไทย บอกปีหน้าจะเข้าเออีซีแต่ยังมีกฎหมายนับร้อยฉบับไม่ได้แก้ ขณะที่การปฏิรูปตำรวจยังไม่เกิด พร้อมตั้งความหวัง สปช.แก้ปัญหาคอร์รัปชันเอาผิดนักการเมือง หลังสื่อไทยบางส่วนไม่ทำหน้าที่ แถมซื้อได้อีก

วันนี้ (23 พ.ย.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดให้มีการประชุมหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 32 เป็นวันสุดท้าย ที่หอประชุมสมเด็จย่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย โดยนายอิสสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย ได้สรุปผลการสัมมนาเป็นหนังสือปกขาวเรื่องยุทธศาสตร์ภาคเหนือ 2020 เสนอต่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการ

โดยผลสรุปส่วนใหญ่เป็นการเสนอวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ ของหอการค้า ที่มุ่งเป็นผู้นำทางข้อมูลเศรษฐกิจ การพัฒนาศักยภาพของนักธุรกิจ การขยายโอกาสทางการลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าชายแดน-การค้าข้ามแดนที่เกี่ยวข้องกับกรอบความร่วมมือต่างๆ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า เศรษฐกิจของไทย 80% อยู่ในมือภาคเอกชน แต่ภาครัฐเสียอีกที่กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่ไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีปี 2558 นั้น ตนเห็นว่าธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะศักยภาพเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายเรื่อง

แต่ที่ต้องดูแลมากคือธุรกิจขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอี และสิ่งที่น่าห่วงมากก็คือ หน่วยงานภาครัฐเอง เพราะยังมีกฎหมายอีกร่วม 100 ฉบับที่ต้องแก้ไขให้ทันเดือน ธ.ค. 2558 ซึ่งตนกำลังผลักดันตั้งคณะกรรมการกฎหมายภาครัฐอยู่ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำตามกฎของเออีซีได้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไปขึ้นอยู่กับหลายด้าน คือ ด้านสังคม การศึกษา หนี้สิน และการเมือง โดยด้านสังคมนั้น หลายฝ่ายคาดหวังกับรัฐบาลใหม่ที่เข้ามามาก แต่ระยะเวลาอีก 1 ปีคงทำไม่ได้หมด เพราะสังคมไทยมีจุดอ่อนอยู่มาก สิ่งที่คาดหวังกันมากคือ ความปลอดภัยในชีวิต และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนด้านการศึกษา ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก และด้านหนี้สิน ที่มักเกิดกับประชาชนที่มีฐานะยากจน

“ถ้าสิ่งเหล่านี้ยังเป็นปัญหา ประเทศไทยไม่มีทางมีความสุขแน่”

ส่วนการแก้ไขปัญหานั้นทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลถือว่า ทำได้ดีในช่วงต้นๆ โดยสามารถควบคุม และลดอำนาจ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นตำรวจ ซึ่งแม้ตำรวจจะมีที่เป็นคนดีอยู่มาก แต่มองในแง่ที่ไม่ดีแล้วก็ถูกควบคุม แต่ก็มีคำถามว่า ถ้ารัฐบาลนี้หมดอายุลงสิ่งเหล่านี้จะกลับคืนมาหรือไม่

“เรื่องเหล่านี้ผมไม่มีคำตอบ แต่ต้องช่วยกันคิด เพราะขณะนี้ยังไม่มีการปฏิรูปการบริหารตำรวจอย่างจริงจัง ก็มีแต่การโยกย้ายแต่งตั้ง ให้มีเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกน้อยลง แต่ถ้าโครงสร้างตำรวจยังใหญ่โตเหมือนเดิม ท้ายที่สุดก็แก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดี ผมจึงฝากความหวังไว้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่หลายคนมีความกระตือรือร้นเข้ามาทำงานด้านนี้”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวอีกว่า สำหรับด้านการศึกษานั้น โครงสร้างเครือข่ายการศึกษาต้องใช้เวลาการปรับอย่างน้อย 15 ปี ซึ่งนานมาก หลายประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ ได้ถอดการศึกษาออกจากภาคการเมือง เพราะถ้านักการเมืองยังอยู่ และชนะการเลือกตั้ง ก็จะเข้าไปอยู่เหนือภาคการศึกษาเหมือนเดิม ซึ่งตนเห็นด้วยที่จะแยกการศึกษาให้อิสระออกไป แต่ทุกอย่างก็ต้องไปจบกันที่ สปช.

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังกล่าวถึงด้านปัญหาหนี้สินว่า ตนเป็นกลาง และกล้าพูดได้ว่า ในอดีตพบเห็นโครงการกองทุนหมู่บ้านที่พอจะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนในชนบทได้ ซึ่ง 70% สามารถใช้เงินคืนโดยไม่เดือดร้อนเพราะดอกเบี้ยต่ำ คงเหลืออีก 30% ที่ใช้หนี้คืนเองไม่ได้ แต่ว่าต้องมีการต่อยอดเพื่อให้เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ก็จะพยายามผลักดันให้มีธนาคารเพื่อให้กู้รายย่อย ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี โดยจะร่วมกับธุรกิจที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศในการให้สินเชื่อต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงด้านปัญหาการเมืองว่า ความเสียหายของการเมืองไทยที่ผ่านมาคือ การพยายามรวมอำนาจบริหาร และนิติบัญญัติเอาไว้ที่จุดเดียว โดยทั้ง 2 อย่างไม่สามารถคานอำนาจกันได้ รวมทั้งน่าแปลกที่ค่านิยมของนักการเมืองในช่วง 10 ปีหลัง ให้ความสำคัญต่อการเป็นรัฐมนตรีมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งที่ ส.ส.มีหน้าที่แก้ไขกฎหมาย และอื่นๆ ได้มากมาย แต่กลับไม่ภาคภูมิใจ จนเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งที่จริงเรื่องนี้ในต่างประเทศองค์กรตรวจสอบต้องร่วมกับสื่อ แต่ตนไม่มั่นใจว่าสื่อจะเต็มใจหรือไม่ เพราะบางครั้งเมื่อมีเหตุการณ์การเมืองใดๆ ขึ้นก็กลับไปนำเสนอเห็นด้วยกับกลุ่มการเมืองหนึ่งเสียเองก็มี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวด้วยว่า ปัญหาหนักอีกเรื่องคือ คดีความที่จะเอาผิดนักการเมืองที่กระทำผิดปรากฏว่ากระบวนการช้า และใช้เวลานับ 10 ปี และช่วง 10 ปีนี้นักการเมืองนั้นๆ ก็ยังเชิดหน้าชูตาทำงานเหมือนเดิมได้อีก เรื่องนี้ต้องทำงานร่วมสื่อมวลชนในการต่อต้านนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งในต่างประเทศเขาจะทำกันมากโดยเฉพาะเกาหลีใต้ สื่อจะโหมประโคมข่าวเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น และโดยข้อเท็จจริงแล้วเรื่องทุจริตไม่จำเป็นต้องรอให้คดีความตามกฎหมายสิ้นสุด แต่ใช้จิตวิทยามวลชนได้ ถ้าทำกันมากๆ คราวต่อไปก็ไม่กล้าทำอีก แต่สื่อไทยมีน้อยมาก และบางครั้งกลับถูกซื้อเสียเอง ซึ่งที่ตนทราบก็เพราะมีคนมาบอกว่า “ใครบ้างที่ซื้อได้ซื้อไม่ได้”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังกล่าวด้วยว่า คาดว่ารัฐธรรมนูญใหม่ที่จะออกมาจะมีการแยกฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติออกจากกันเพื่อให้คานอำนาจกัน เป็นคนละพวก ซึ่งก็มีหลายโมเดล และผมหวังว่า สปช.จะออกแบบให้คดีการทุจริตของนักการเมืองมีกำหนดระยะเวลา แต่ไม่แน่ใจว่าจะกล้าหรือไม่ ตำรวจนั้นเขาทำคดีสัปดาห์เดียวก็ทำได้ อัยการ 1 เดือนก็ทำได้ และควรกำหนดว่า ถ้าศาลประทับรับฟ้องคดีใดแล้ว ให้นักการเมืองคนนั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่รวมถึงลูกเมียด้วย ไม่เช่นนั้นจะฝากกันได้อีก

“แต่ก็ขึ้นอยู่กับความกล้าหาญของ สปช. ซึ่งบางครั้งตนก็ท้อใจ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ 2 เดือนไม่เห็นมีคนขยับเรื่องนี้ ทำให้คนที่ทำผิดก็ไม่ยอมเข็ด ผมก็ไม่รู้จะไปพูดกับใครในเรื่องนี้”

รองนายกรัฐมนตรียังย้ำอีกว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่ใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องใช้กระแสสังคมร่วมด้วย โดยสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการป้องปราม และหากใครคิดจะคอร์รัปชันก็จะมีกระแสกดดันไว้ไม่ให้ทำผิดอีก ทั้งนี้ สิ่งเดียวที่ตนจะกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในครั้งนี้ก็คือ ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะบั่นทอนประเทศไทยมาช้านาน

“หากจุดอ่อนต่างๆ เหล่านี้ไม่มีแล้ว เศรษฐกิจที่นำโดยภาคเอกชนก็จะดีขึ้นเอง แต่หากมีจุดอ่อนทั้งหมดอยู่เศรษฐกิจไม่ดี ก็จะกระทบภาคธุรกิจในที่สุดเหมือนกัน”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า และนอกจากจะกำจัดจุดอ่อนดังกล่าวแล้ว ยังต้องเปิดโอกาสด้านต่างๆ ด้วย โดยจุดอ่อนที่พบด้านเศรษฐกิจคือ การที่คนไทยใช้พลังงานมากถึง 18.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี มากกว่าช่วง 10 ปีก่อนถึงเท่าตัว ขณะที่ประเทศอื่นสามารถหยุดได้ เพราะนักการเมืองที่เข้ามามักจะโหมหาเสียงว่าจะให้ราคาพลังงานถูกลง โดยหวังคะแนนเสียงอย่างเดียว แต่ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง ไม่ส่งเสริมให้ประหยัด

ส่วนปัญหายางพารา ก็คงจะมีการส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่น และให้สินเชื่อรายย่อย ขณะที่เรื่องผลผลิตข้าวก็จะส่งเสริมให้กลับมาปลูกข้าวพันธุ์ดีของไทยอีกครั้ง เพราะโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ทำให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวอายุสั้น และไม่สนใจคุณภาพ เพื่อหวังนำไปจำนำได้โดยเร็วเท่านั้น โดยได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดพื้นที่เอาไว้แล้ว พร้อมจัดหาตลาดสำหรับข้าวพันธุ์ดีให้ด้วย ขณะเดียวกันจะมีการส่งเสริมเกษตรทางเลือกตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 เป็นต้นไป โดยให้เกษตรอำเภอ ตำบล เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน



กำลังโหลดความคิดเห็น