ตราด-จ.ตราด ร่วมประชุมกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอันตราย ตามนโยบาย คสช.
วันนี้ (21 ต.ค.) ที่ห้องประชุมศูนย์ประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดตราด นายพยัคฆพันธ์ โพธิ์แก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย
โดยมี นายสุวรรณ นันทศรุต ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) นายชูศิษฎ์ พงษ์เจริญ ผู้อำนวยการส่วน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ตราด ผู้บริหาร และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดตราดร่วมประชุม
การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากคณะ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเห็นชอบ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยการวางระบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้กำกับดูแลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายในจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจังหวัดตราด ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดตราดขึ้นเพื่อดำเนินการดังกล่าว
นายพยัคฆพันธ์ กล่าวว่า ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ทั้งขยะใหม่ และเก่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเป็นผู้ดำเนินการด้วยตัวเอง เพราะเป็นสิ่งที่ อปท.ต้องทำตามหน้าที่ ซึ่ง อปท.ต้องกลับไปคิดว่าควรจะทำอย่างไรในเรื่องของการจัดการขยะในท้องถิ่นของตนเอง เช่น การรณรงค์ให้ชุมชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง เพราะขยะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมีขยะอยู่ 2 ชนิด คือ ขยะใช้ทำปุ๋ยได้ และขยะขายได้ ถ้าสามารถคัดแยกขยะได้จะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องขยะไม่ยาก และจำนวนขยะก็ไม่มากเช่นกัน
นายสุวรรณ กล่าวว่า ได้เชิญให้ อปท.ทุกแห่งในพื้นที่มาร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางร่วมกันว่า การกำจัดขยะในพื้นที่ และชุมชนนั้นควรจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะจังหวัดตราด ที่เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีเกาะแก่งต่างๆ มากมาย การวางแผนในเรื่องของการกำจัดขยะจึงเป็นสิ่งจำเป็น หรืออย่างบ่อทิ้งขยะของเทศบาลเมืองตราด ที่ต้องรองรับขยะจากที่อื่นด้วยที่ขณะนี้ใกล้เต็มแล้ว ควรจะมีการแก้ไขอย่างไร
สำหรับการการพูดคุยกันในครั้งนี้เพื่อหาทางแก้ปัญหา ซึ่งเป้าหมายการกำจัดขยะภายใน 1 ปี ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดมา คือ ขยะเก่าใน 26 จังหวัด ที่มีมากถึง 22 ล้านตันจะต้องได้รับการแก้ไข
พร้อมกันนี้ จะได้มีการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะที่แปรรูปเป็นพลังงาน อย่างน้อย 125 แห่ง การออกกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการจัดการขยะ และที่สำคัญ คือ การคัดแยกขยะโดยเฉพาะขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป ประเด็นการคัดแยกขยะตามครัวเรือนควรจะมีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม แม้ที่ผ่านมา จะมีการดำเนินการมาแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ในทุกพื้นที่ และชุมชน ทำให้การคัดแยกขยะไม่ได้ผลมากนัก