ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- โคราชเร่งแก้ปัญหาขยะล้นเมืองตามโรดแมปรัฐบาล คสช. เผย อ.ปากช่อง-บัวใหญ่ วิกฤตขยะตกค้างกว่า 1 แสนตัน ด้านรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผยประเทศไทยมีขยะไม่ได้รับการกำจัดอยู่กว่า 20 ล้านตัน ระบุอาจต้องปรับขึ้นค่าจัดเก็บขยะเพื่อให้ประชาชนตระหนักและช่วยกันคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง
วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ห้องประชุมศรีพัชรินทร สโมสรร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ท.จารุเกียรติ ชัยวงษ์ ที่ปรึกษากองทัพภาคที่ 2 เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยภายใต้โรดแมป (Road Map) การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ในพื้นที่รับผิดชอบสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมาให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ
ทั้งนี้มี นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และ นายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้การต้อนรับ
พล.ท.จารุเกียรติ ชัยวงษ์ ที่ปรึกษากองทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยเป็นปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะวิกฤต ที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไขปัญหา จะเห็นได้ว่าปริมาณขยะได้เพิ่มขึ้นในทุกปี แต่มีปริมาณการกำจัดและนำไปใช้ประโยชน์ไม่ถึงร้อยละ 50 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้กำหนดให้ขยะ เป็นนโยบายและวาระแห่งชาติ
โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ เป็นเจ้าภาพหลักโดยวางหลักการ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามแนวทางที่ได้วางไว้ เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน โดยให้ความสำคัญในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการจัดการขยะเป็นลำดับแรก ส่งเสริมให้เกิดกลไกลการคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด เร่งกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะในพื้นที่วิกฤตซึ่งจะใช้ที่ดินของรัฐเป็นฐานหลัก ในพื้นที่ใดที่สามารถจัดการขยะมูลฝอยโดยการแปรรูปเป็นพลังงานให้เร่งดำเนินการ
ด้าน นายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีขณะที่ต้องจัดเก็บแต่ละวันกว่า 21 ล้านตัน และ ขณะนี้มีขยะจำนวน 20 ล้านตันที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีการกำจัด ซึ่งตามโรดแมป ของรัฐบาลคือการกำจัดขยะเก่าภายใน 6 เดือน และจัดระบบให้เป็นรูปแบบใหม่ ด้วยการทำขยะให้เป็นพลังงาน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและรัฐเป็นผู้สนับสนุน โดยเน้นการจัดการที่ต้นทาง โดยเฉพาะการคัดแยกขยะ
จากนี้ไปอาจต้องมีการขยับค่าจัดเก็บขยะเพิ่มขึ้นเพราะอัตราที่ใช้เป็นของปี 2520 แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป มีขยะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่จะต้องปรับราคาค่าจัดเก็บขึ้นแต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่นจะดำเนินการ
ส่วนพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ 6 จังหวัดเขตปริมณฑลทั้งหมด เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี อยุธยา ซึ่งการดำเนินการจะนำร่อง 20 จังหวัดทั่วประเทศตามโรดแมป โดย จ.นครราชสีมาเป็น 1 ใน 20 จังหวัด ที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา
ขณะที่ นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าฯนครราชสีมา เปิดเผยว่า ปัจจุบันจ.นครราชสีมา มีสถานที่กำจัดขยะ 103 แห่ง มีปริมาณขย รวม 2,692 ตันต่อวัน สามารถเก็บขยะได้ 1,113 ตันต่อวัน ซึ่งมีเพียง 400 ตันต่อวัน ที่สามารถนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ยังคงเหลือ อีกกว่า 2,292 ตัน ต่อวันที่นำไปกำจัดแบบไม่ถูกต้อง โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้สำรวจ พบว่า จ.นครราชสีมา มีปริมาณขยะสะสม 47,000 ตัน จึงอยู่ในลำดับที่ 13 ของประเทศ ที่มีปัญหาขยะมูลฝอยสะสม และเป็นลำดับที่ 33 ของประเทศที่มีปัญหาการจัดการกับขยะมูลฝอย
“ พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ อ.ปากช่อง มีขยะคงค้างไม่ได้กำจัดกองอยู่กว่า 1 แสนตัน เช่นเดียวกับ อ.บัวใหญ่ ที่มีปัญหาขยะล้นเมืองต้องเร่งดำเนินการแก้ไข” นายชยาวุธ กล่าว